หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ผู้ว่าฯ ราชบุรี สั่งเตรียมพร้อมรับมือผลกระทบ “แกมี”


   วันนี้( 8 ต.ค.2555) หลังจากที่ จ.ราชบุรี ได้รับผลกระทบจากพายุแกมี โดยมีฝนตกอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมา นายชนม์ชื่น บุญญานุสาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ได้สั่งการให้ทุกอำเภอประสานงานกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมออกเตือนประชาชนให้ระวังน้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม โดยเฉพาะ อ.บ้านคา และ อ.สวนผึ้ง และให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.ราชบุรี เตรียมความพร้อมติดตามสถานการณ์ หากมีเหตุในพื้นที่ใด สามารถที่จะออกช่วยเหลือประชาชนได้ทันที รวมทั้งทุกหน่วยงานต้องรายงานให้ทราบความเคลื่อนไหวตลอดเวลา

กบอ. เผยพายุ “แกมี” อ่อนกำลังเป็นหย่อมกดอากาศต่ำ


     วันนี้( 8 ต.ค.2555) นายรอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย หรือ กบอ. ยืนยันว่า พายุ “แกมี” ได้สลายตัวเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำแล้ว แต่ยังส่งผลให้ฝนตกในภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคใต้ตอนบน แต่ยังเบาใจได้ ส่วน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ยังน่าเป็นห่วง เนื่องจาก ลมมรสุมค่อนข้างแรง หากลมพายุปะทะกับกดอากาศต่ำ จะทำให้ฝนตกหนักได้ และยังส่งผลให้ตกหนักใน จ.ราชบุรี และเพชรบุรี ร่วมด้วย

        ส่วนจังหวัดที่ยังต้องเฝ้าดูสถานการณ์ ยังเป็น จ.จันทบุรี และตราด พร้อมกล่าวยืนยันว่า ขณะนี้ไม่จำเป็นต้องเฝ้าศูนย์ กบอ.ตลอด 24 ชั่วโมง เพราะระบบการทำงานเป็นแบบออนไลน์ อยู่บริเวณใดก็สามารถทำงานได้

นาข้าว จ.ราชบุรี วิกฤต น้ำเริ่มท่วมขัง



     วันนี้( 8 ต.ค.2555) อิทธิพลของพายุแกมีส่งผลให้เกิดฝนตกหนักใน จ.ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ โดยเฉพาะพื้นที่ จ.ราชบุรี ต้องเฝ้าระวังเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นพื้นที่ราบลุ่มนาข้าว อ.บ้านโป่ง โพธาราม บางแค ดำเนินสะดวก และ อ.เมือง เริ่มมีน้ำท่วมขังบ้าง อีกส่วนหนึ่ง คือที่ราบเชิงเขา ใน อ.สวนผึ้ง อ.บ้านคา เรื่อยมาถึง อ.ปากท่อ และ อ.จอมบึง เริ่มมีน้ำท่วมขังเช่นกัน

        ส่วนปริมาณน้ำท่าในอ่างเก็บน้ำ 5 แห่ง ปริมาณน้ำในแม่น้ำแม่กลอง น้ำในเขื่อนวชิราลงกรณ์ เขื่อนศรีนครินทร์ ยังไม่เกินกำลังที่จะรับได้

        อย่างไรก็ตาม กำลังพลจากส่วนต่างๆ ทั้งอำเภอ ฝ่ายปกครอง เตรียมเครื่องสูบน้ำไว้ 50 เครื่อง พร้อมสนับสนุนทุกพื้นที่หากมีการร้องขอ

กทม. ยันปริมาณน้ำฝนไม่น่าห่วง


 วันนี้( 8 ต.ค.2555) นายสัญญา ชีนิมิตร ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร กล่าวถึงปริมาณน้ำฝนในกรุงเทพมหานครภาพรวมว่า ยังไม่น่าเป็นห่วง โดยเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาวัดได้ปริมาณ 30-50 มิลลิเมตร และพบปริมาณเฉลี่ยสูงสุดอยู่ที่ศาลาแดง วัดได้ 50 มิลลิเมตร ส่วนระดับน้ำในคันกั้นน้ำ ทั้งทางฝั่งตะวันออก และฝั่งตะวันตก พบมีระดับน้ำสูงขึ้น แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ควบคุมได้

        อย่างไรก็ตาม สำนักการระบายน้ำได้เตรียมพร้อมรับมืออย่างเต็มที่ ทั้งการพร่องน้ำตามคลอง บึง และแก้มลิง รวมทั้งตั้งเครื่องสูบน้ำทุกจุดของกรุงเทพมหานคร และจัดเจ้าหน้าที่หน่วยเบส ออกตรวจสอบ และเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง มั่นใจว่าหากเกิดฝนตกหนักตลอดทั้งวัน จะไม่เกิดน้ำท่วม

        ส่วนกรณีพบกระสอบทรายในท่อระบายน้ำบริเวณ ถ.ศรีนครินทร์ ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กล่าวว่า กระสอบทรายดังกล่าวเป็นการดำเนินการด้านเทคนิคในระบบปิดล้อมย่อยกั้นน้ำ โดยนำมาบล็อกเครื่องสูบน้ำ รวมทั้งบล็อกในระบบท่อระบายน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้ดินไหลเข้าสู่ตัวระบบ

วันอังคารที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2555

น้ำท่วมปราจีนฯ วิกฤตอีก! ฝนตกซ้ำ - น้ำป่าไหลทะลักเพิ่ม


      น้ำท่วมจังหวัดปราจีนบุรี กลับมาวิกฤตอีก หลังมีฝนกระหน่ำลงมาอีกระลอก จนทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนเสียหายจำนวนมาก

            จากสถานการณ์น้ำท่วมหนักในจังหวัดปราจีนบุรี ล่าสุด วันนี้ (2 ตุลาคม) มีรายงานว่า ในหลายพื้นที่ยังคงวิกฤตหนัก เนื่องจากมีน้ำท่วมขังเป็นจำนวนมาก และความเสียหายได้ขยายวงกว้างคลอบคลุมไปทุกอำเภอ ดังนั้น ทางจังหวัดจึงได้ประกาศให้ทุกอำเภอเป็นพื้นที่ภัยพิบัติแล้ว

            โดยเมื่อช่วงเย็นวานนี้ (1 ตุลาคม) ได้เกิดฝนตกลงมาอย่างหนักในเขตพื้นที่อำเภอนาดี และอำเภอกบินทร์บุรี นานนับชั่วโมง ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนได้รับความเดือดร้อนอีกเป็นจำนวนมาก และในช่วงกลางดึกวันเดียวกัน น้ำจากจังหวัดสระแก้วได้เข้าถล่มตัวอำเภอกบินทร์บุรีบางส่วนด้วย

            ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าว ยังพบว่ากระแสน้ำป่ายังได้ไหลผ่านพื้นผิวการจาจรบนถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 304 กบินทร์บุรี-นครราชสีมา ทั้งขาเข้า และขาออก บริเวณหมู่ 9 ตำบลหนองกี่ อำเภอกบินทร์บุรี โดยมีระดับน้ำสูง 30-50 เซนติเมตร เป็นระยะทางยาวเกือบ 1 กิโลเมตร ทำให้การจราจรติดขัด เนื่องจากรถยนต์ขนาดเล็กต้องใช้ความระมัดระวังในการเดินทาง อย่างไรก็ตาม ระดับน้ำได้ลดลงเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว ตั้งแต่เมื่อกลางดึกที่ผ่านมา
           
            ส่วนในเขตเทศบาลตำบลกบินทร์บุรีนั้น พบว่า ระดับน้ำสูงขึ้นอีกเล็กน้อย ซึ่งถนนหลายสายในตัวเทศบาลยังถูกน้ำท่วมขัง ทำให้การสัญจรไปมาค่อนข้างลำบาก เพราะบางช่วงยังมีน้ำท่วมสูง ตลาดสดยังจมน้ำ ทำให้พ่อค้า แม่ค้า ต้องขนสินค้ามาขายบริเวณศูนย์การค้าเป็นการชั่วคราวไปก่อน

เตือน! พายุเกมีเข้าไทย 6-7 ต.ค. ฝนตกหนักทุกภาค


       กรมอุตุฯ ประกาศพายุเกมี เข้าไทย 6 - 7 ตุลาคมนี้ ทำฝนตกหนักทุกภาค คาดว่าปริมาณน้ำฝนเกิน 90.1 มิลลิเมตร เตือนประชาชนระมัดระวัง งดนำเรือเล็กออกจากฝั่ง

          วันนี้ (2 ตุลาคม) เมื่อเวลา 04.00 น. กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศว่า พายุโซนร้อน "เกมี" (GAEMI)  จะทวีกำลังแรงขึ้นจากบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง โดยมีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 700 กิโลเมตร ทางตะวันออกของเมืองดานัง ประเทศเวียดนาม หรือที่ ละติจูด 17.0 องศาเหนือ และ ลองจิจูด 114.8 องศาตะวันออก มีความเร็วสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 65 กิโลเมตร/ชั่วโมง พายุนี้เกือบจะไม่เคลื่อนที่ และในช่วงวันที่ 2 - 3 ตุลาคม 2555 ยังไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย

          ทั้งนี้ ในช่วงวันที่ 4 - 5 ตุลาคม คาดว่า พายุดังกล่าวจะเคลื่อนขึ้นฝั่งตอนกลางของประเทศเวียดนาม และในช่วงวันที่ 6 - 7 ตุลาคม จะเคลื่อนผ่านประเทศลาวตอนล่าง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ของประเทศไทยตามลำดับ ประกอบกับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ซึ่งลักษณะดังกล่าวจะทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนาแน่น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง

กทม.เล็งสร้างอุโมงค์-ประตูระบายน้ำเพิ่ม


    กรุงเทพมหานคร เตรียมสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ และประตูระบายน้ำในกรุงเทพฯ เพิ่มอีก 3 จุด เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในกรุงเทพฯ

          นายสัญญา ชีนิมิตร ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ ได้กล่าวถึงกรณีที่ทางกรุงเทพมหานคร จะมีการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำเพิ่มขึ้นมาอีก 3 แห่ง ได้แก่ อุโมงค์ระบายน้ำคลองบางซื่อ ในขณะนี้ได้มีการประกวดราคาแล้ว รอเสนอให้รัฐบาลทราบ เพื่อเข้า ครม.ต่อไป

          สำหรับอุโมงค์ระบายน้ำบึงหนองบอน ได้มีการเสนอแผนไปแล้ว และยังมีส่วนที่ต้องเพิ่มเนื้อหา นำเสนอให้รัฐบาลอีกเป็นบางส่วน ส่วนประตูระบายน้ำดอนเมือง ได้มีการออกแบบไปบ้างแล้ว แต่ยังมีอุปสรรคในเรื่องของการจัดสรรพื้นที่ในการก่อสร้าง เนื่องจากติดพื้นที่ที่เป็นเส้นทางการรถไฟ จึงจะต้องขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือด้วย และในการออกแบบก่อสร้างลักษณะของอุโมงค์ ก็จะมีการออกแบบคล้ายกับอุโมงค์ที่พระราม 9

รอยล เตือนอีสาน ฝนตกหนัก 8 - 10 ต.ค.นี้

    รอยล คาดฝนถล่มอีสาน เหตุมรสุมเข้าไทย 8 - 10 ตุลาคมนี้ เชื่อเป็นผลดีมากกว่าผลเสีย พร้อมประสานกรมชลฯ เร่งระบายน้ำกรุงเทพมหานครฝั่งตะวันออก

          วันนี้ (1 ตุลาคม) นายรอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร ได้กล่าวถึงสภาพอากาศในช่วงสัปดาห์หน้าว่า ในระหว่างวันที่ 8 - 10 ตุลาคมนั้น ประเทศไทย จะได้รับผลกระทบจากหย่อมความกดอากาศต่ำทางทะเลจีนใต้ ที่จะเคลื่อนตัวเข้าประเทศเวียดนาม กัมพูชา และเข้าประเทศไทย ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยหย่อมความกดอากาศดังกล่าว จะทำให้มีฝนตกหนักในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ซึ่งจะส่งผลให้ปัญหาภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้นในพื้นที่ดังกล่าวดีขึ้น

          แต่ในขณะเดียวกัน อาจเกิดผลกระทบต่อเขตลาดกระบัง ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำจากขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนขุนด่าน เบื้องต้นได้ประสานงานไปยังกรมชลประทาน ให้ดำเนินการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 8 จุดใน 4 คลอง คือ คลองลาดกระบัง คลองบางโฉลง คลองบางเสาธงและคลองประเวศแล้ว เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ให้หมด

ฝนถล่มบางละมุง ชลบุรี ทำน้ำท่วมสูง 1 เมตร


   ฝนกระหน่ำ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ตลอดคืน ส่งผลน้ำล้นคลองไหลท่วมฉับพลัน ใน ม.4 ต.บางละมุง ชุมชนวัดท่ากระดาน สูงกว่า 1 เมตร เจ้าหน้าที่ระดมเข้าช่วยเหลือ

         วานนี้ (30 กันยายน) ได้เกิดเหตุน้ำท่วมฉับพลันในเขตชุมชนวัดท่ากระดาน หมู่ 4 ต.บางละมุง อ.บางละมุง จ.ชลบุรี โดยน้ำได้เข้าท่วมทั้งชุมชนจนไม่สามารถอยู่ในบ้านได้เนื่องจากน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร ทำให้นายเชาวลิต แสงอุทัย นายอำเภอบางละมุง ได้นำเจ้าหน้าที่ของอำเภอ และหน่วยกู้ภัยเข้าไปในพื้นที่ เพื่อนำตัวประชาชนที่ยังติดค้างอยู่ภายในบ้านออกมา

         อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลา 17.00 น.ของวันดังกล่าว ระดับน้ำในพื้นที่ ต.บางละมุง ลดเหลือประมาณ 50 เซนติเมตร เชื่อหากไม่มีฝนตกหนักอีก จะสามารถระบายน้ำออกจากพื้นที่ได้หมด แต่เพื่อเป็นการไม่ประมาท ทางจังหวัด ทางอำเภอ ได้มีการเตรียมพร้อมที่จะอพยพประชาชนได้ตลอด 24 ชั่วโมง หากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น

สุพรรณบุรีอ่วม! น้ำไหลท่วม อ.หนองหญ้าไซ ถนนขาด


    น้ำป่าจากกาญจนบุรี ไหลเข้าท่วมบ้านหนองขาม จ.สุพรรณบุรี จนน้ำท่วมท้องนา ทั้ง ๆ ที่ใกล้ถึงฤดูเก็บเกี่ยวแล้ว ด้าน นายกฯ อบต. หนองขาม เผย ยังไม่มีบ้านเรือนได้รับความเสียหาย

          วันนี้ (30 กันยายน) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ฝนตกอย่างหนักในค่ำคืนวันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา ทำให้เกิดเหตุน้ำท่วมขังที่บ้านหนองขาม อ.หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี นอกจากนี้ บ้านหนองขาม ยังถูกน้ำป่าที่ไหลมาจาก อ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี และ อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี ไหลเข้าท่วมซ้ำ เนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ส่งผลให้คอสะพานในหมู่บ้านชำรุด ถนนหลายสายไม่สามารถสัญจรได้ และพื้นที่ทางการเกษตรได้รับความเสียหายไปด้วย

          ด้านนายบุญยัง วังเปรม นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หนองขาม เปิดเผยว่า หมู่บ้านทั้ง 11 หมู่บ้านใน ต.หนองขาม ได้รับความเสียหายทั้งหมดต่างรูปแบบกันไป โดยในหมู่ที่ 9 คอสะพานชำรุดด้วยกัน 2 จุด รถเล็กก็ยังสามารถเดินทางข้ามสะพาน ขณะที่หมู่ที่ 6 น้ำไหลเข้าท่วมจนทำให้ถนนขาด ส่วนพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด คือ หมู่ที่ 8 กับ หมู่ที่ 10 ซึ่งเป็นพื้นที่ทางการเกษตรซึ่งขณะนี้ข้าวกำลังตั้งท้อง และใกล้ถึงเวลาเก็บเกี่ยวแล้ว คาดว่าหากฝนไม่ตกลงมาเพิ่ม สถานการณ์ก็จะเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว

วันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2555

กาญจนบุรีอ่วม! น้ำท่วมหลายพื้นที่ ห้วยกระเจาหนักสุด

 
      กาญจนบุรีอ่วม! น้ำท่วมหลายพื้นที่ ห้วยกระเจาหนักสุด เผยเดือดร้อนกว่า 300 ครัวเรือน ไร่นาเสียหายกว่า 7 พันไร่ ขณะนี้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ช่วยเหลือแล้ว แต่ยังขาดแคลนเรือท้องแบนในการลำเลียงน้ำและอาหารให้ผู้ประสบภัย

           วันนี้ (29 กันยายน) ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำที่ จ.กาญจนบุรี ว่า หลังจากที่ฝนตกหนักต่อเนื่องติดกันหลายวัน ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะที่ ต.สระลงเรือ อ.ห้วยกระเจา ซึ่งเมื่อวานนี้มีระดับน้ำสูงถึง 50 – 80 เซนติเมตร แต่ในวันนี้ระดับน้ำสูงถึง 1-1.50 เมตร แล้ว

           ทั้งนี้ รท.ทศพล ไชยโกมินทร์ นายอำเภอห้วยกระเจา และ นายอนุชา สุขเชิงชาย นายกเทศมนตรีตำบลสระลงเรือ ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ของอำเภอและเทศบาล พร้อมด้วยกำลังทหารจากกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 19 กองพลทหารราบที่ 9 ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชน

วันศุกร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2555

อุตุฯ ประกาศเตือน ฉบับที่ 16 "ฝนตกหนักถึงหนักมากทั่วไทย"


ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา"ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทย" ฉบับที่ 16 ลงวันที่ 28 กันยายน 2555

ร่องมรสุมกำลังแรงยังคงพาดผ่านบริเวณภาคกลางตอนล่าง ภาคใต้ตอนบน และภาคตะวันออก ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกชุกหนาแน่นโดยเฉพาะบริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยและพื้นที่ที่มีน้ำท่วมบริเวณดังกล่าวระมัดระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากในระยะนี้ สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีกำลังแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ขอให้ชาวเรือเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือในช่วงวันที่ 28-30 กันยายน 2555

อนึ่ง พายุไต้ฝุ่น "เจอลาวัต" (JELAWAT) บริเวณด้านตะวันออกเฉียงใต้ของไต้หวัน มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 185 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กำลังเคลื่อนตัวไปใกล้เกาะไต้หวันในช่วงวันที่ 28-29 กันยายน 2555 ส่วนพายุโซนร้อน "เอวิเนียร์" (EWINIAR) บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะเคลื่อนตัวไปใกล้ประเทศญี่ปุ่นในช่วงวันที่ 28-29 กันยายน 2555 โดยพายุทั้ง 2 ลูกนี้ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย

ประกาศ ณ วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2555 เวลา 05.30 น.

ระนอง-ฝนตกหนักดินภูเขาถล่ม อ.สุขสำราญ


อ.สุขสำราญ เกิดดินภูเขาถล่ม นำก่อไม้ไผ่ลงมาปิดทับเส้นทาง ส่วนปริมาณน้ำฝนเช้านี้วัดได้ถึง 186.5 มิลลิเมตร ผวจ.ระนองสั่งทุกหน่วยงานเข้าเฝ้าระวัง และเข้าช่วยเหลือประชาชนทันทีที่เกิดสถานกาณ์น้ำป่าไหลหลาก

จากการที่เกิดสภาวะฝนตกหนักต่อเนื่องตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาส่งผลให้น้ำป่าไหลหลากจากเทือกเขาภูเก็ต ไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร 2 ตำบล ของอำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง นับร้อยครัวเรือนที่อยู่ใกล้คลองและธารน้ำไหล ตั้งแต่เมื่อวานนี้นั้น สถานีอุตุนิยมวิทยาระนอง ได้รายงานปริมาณฝนเมื่อเช้านี้ที่ ต.นาคา อำเภอสุขสำราญ วัดได้ถึง 186.5 มิลลิเมตร และต.กะเปอร์ อ.กะเปอร์ วัดได้ 113.0 มิลลิเมตร

เช้านี้ อำเภอสุขสำราญได้เกิดเหตุดินเลื่อนไหลบริเวณชายเขา และนำกอไม้ไผ่ขนาดใหญ่ลงมาปิดทับเส้นทางการจราจร 1 ช่องทาง ระหว่างเส้นทางเข้าหมู่บ้านพรุใหญ่ หมู่ที่ 4 ตำบลกำพวน อำเภอสุขสำราญ ขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังเข้าเคลียร์พื้นที่เพื่อให้รถสัญจรไปมาได้อย่างสะดวก

และอีกจุดที่ภูเขาบ้านพรุใหญ่ ได้เกิดดินถล่ม หินและดินที่ร่วนซุยได้ไหล ลงมาทับสวนยางพาราล้มนับสิบต้น กินเนื้อที่กว่า 3 ไร่ และยังมีการเลื่อนไหลทั้งดินและน้ำอย่างต่อเนื่องจากกรณี ที่ดินอุ้มน้ำเป็นจำนวนมาก

นายชวลิต กาสิกา เจ้าของสวนยางในที่เกิดเหตุ อายุ 45 ปี อยู่บ้านเลขที่ 93 ม.3 ต.กำพวน อ.สุขสำราญ จ.ระนอง เปิดเผยว่า ฝนได้ตกหนักมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 5 วันที่ผ่านมา ขณะอยู่ในบ้านได้ยินเสียงต้นไม้ล้มดังมาก จึงวิ่งออกมาดูนอกบ้าน พบดินจากภูเขาถล่มลงมาทับต้นยางพาราหลายสิบต้น รวมพื้นที่ทั้งหมดเกือบ 3 ไร่

ด้านนายพีระศักดิ์ หินเมืองเก่า ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง กล่าวว่า พื้นที่จังหวัดระนองในขณะนี้มีฝนตกหนักต่อเนื่อง รายงานจากกรมอุตุนิยมวิทยาระนอง ว่าปริมาณน้ำฝนขณะนี้ 100 มิลิเมตรขึ้น ซึ่งการแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือพี่น้องประชาชน จังหวัดได้เตรียมคณะทำงานชุดต่างๆขึ้น ตั้งแต่ระดับผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อบต. อำเภอและจังหวัด รวมทั้งทหารจาก ร.25 พัน 2 จัดชุดเคลื่อนที่เร็ว เข้าสนับสนุน ส่วนกรณีดินเลื่อนไหล หรือน้ำท่วมผิวการจราจร จะมีชุดเฉพาะกิจ ทั้งทหารหลวงชนบทและกรมทางหลวง เข้าดำเนินการช่วยเหลือได้ทันที

ฝนถล่ม กทม. น้ำขัง ถ.วิภาวดี-รัชดา-ดินแดง


       น้ำท่วมขังหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร หลังฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งคืน ขณะที่สภาพการจราจร มีน้ำท่วมขังในหลายจุด ทำให้รถเคลื่อนตัวช้า

            ตลอดคืนที่ผ่านมา มีฝนตกหนักต่อเนื่องในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร จากการตรวจสอบพบว่า ในพื้นที่ซอยรัชดาภิเษก 36 หรือ ซอยเสือใหญ่ ที่มักมีน้ำท่วมขังทุกครั้ง หลังจากมีฝนตกต่อเนื่องประมาณ 1 ชั่วโมง เนื่องจากน้ำระบายไม่ทัน พบว่า ภายในซอยเสือใหญ่หลายจุด เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ มีน้ำท่วมขังสูงประมาณ 20 - 30 เซนติเมตร ถนนรัชดาภิเษกฝั่งขาเข้า เชิงทางลงสะพานข้ามแยกรัชโยธิน มุ่งหน้า แยกรัชดา-ลาดพร้าว มีฝนตกตลอดทั้งคืน มีน้ำท่วมขังเชิงทางลงสะพาน ขณะที่บริเวณถนนวิภาวดีรังสิตฝั่งขาออก ช่วงทางลงด่วนดินแดง มุ่งหน้า สโมสรกองทัพบก มีน้ำท่วมขังในช่องทางซ้าย สูงเกือบริมทางเท้า

            ทางด้าน นายสัญญา ชีนิมิตร ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ตลอดคืนที่ผ่านมา มีฝนตกลงมา ทั้งฝั่งธนบุรี และฝั่งพระนคร ตั้งแต่ 100-140 มิลลิเมตร ส่งผลให้มีน้ำท่วมขัง เนื่องจากระบายไม่ทัน พร้อมกันนี้ได้ประชาสัมพันธ์ให้หลีกเลี่ยงเส้นทาง ถนนวิภาวดีรังสิตฝั่งขาเข้า ช่วงหน้า ร.ร.สุรศักดิ์มนตรี เพราะมีน้ำท่วมขังเสมอฟุตปาธ รวมถึง ถนนลาดพร้าว 112 ที่มีน้ำท่วมขัง หากฝนไม่ตกซ้ำลงมา ก็จะสามารถระบายได้ทันภายใน 1 - 2 ชั่วโมง

            ด้านกองบังคับการจราจร รายงานสภาพการจราจรช่วงเช้า บนถนนประชาราษฎร์ สาย 2 จาก แยกเตาปูน ถึง แยกประชาชื่น น้ำท่วมสูงระดับทางเท้า ทิศทางกลับกัน จากแยกประชาชื่น ถึง โรงเรียนเทพสัมฤทธิ์ น้ำท่วมสูงระดับทางเท้า เจ้าหน้าที่กำลังเร่งระบายน้ำเร่งด่วน ถนนรามคำแหง หน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง ยังคงมีน้ำท่วมขังเสมอทางเท้า ซึ่งทำให้การจราจรติดขัด ส่วนใน ซ.เสือใหญ่อุทิศ มีน้ำท่วมขังในซอยเสมอขอบล้อ รถเล็กไม่ควรผ่าน, ถนนสุวินทวงศ์ ขาออก ช่วง ร.ร.สารสาสน์ สุวินทวงศ์ ขาออก แยกบึงขวาง น้ำท่วมขังทั้ง 2 ช่องทาง เสมอทางเท้า ทำให้การจราจรติดขัดอย่างหนัก ขอให้หลีกเลี่ยงเส้นทาง

วันพฤหัสบดีที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2555

พายุหมุนพัดถล่มชัยนาท บ้านเรือนเสียหายนับร้อย


            เกิดพายุหมุนพัดถล่ม 3 ตำบล ใน อ.สรรพยา จ.ชัยนาท นานกว่า 5 ชั่วโมง ทำให้บ้านเรือนประชาชนเสียหายนับ 100 หลังคาเรือน

            วันนี้ (27 กันยายน) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บ้านของประชาชนในพื้นที่ ต.โพนางดำตก ต.โพนางดำออก และ ต.เขาแก้ว อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ประมาณ 100 หลังคาเรือน ได้รับความเสียหายจากพายุหมุน ที่พัดถล่มนานกว่า 5 ชั่วโมง ซึ่งบ้านบางหลังถูกต้นไม้ล้มทับจนต้องออกไปอาศัยเพื่อนบ้านอยู่ชั่วคราว ขณะที่ ชาวบ้านกว่า 200 หลังคาเรือน ใน ต.โพนางดำออก ยังเดือดร้อน เพราะขาดไฟฟ้าใช้นานกว่า 5 ชั่วโมง ต้องนำเทียนพรรษาจากวัดมาจุด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน

สตช. แนะเลี่ยง 21 จุดวิกฤติ หลังฝนกระหน่ำ กทม.

       สตช.แนะเลี่ยง 21 จุดวิกฤติ กทม. หาก​ไม่จำ​เป็น​ไม่ควรผ่าน​ในช่วงฝนตกหนัก เพราะอาจเจอรถติดหนึบ

         วานนี้ (26 กันยายน) สำนักงานตำรวจ​แห่งชาติ ​ได้เปิดเผย 21 จุดวิกฤติ ที่ผู้ขับขี่ควรหลีกเลี่ยงทันที เมื่อมีฝนตกหนักในเขต กทม. สำหรับเส้นทางที่ควรหลีกเลี่ยง มีดังนี้

          1. รัชดาภิเษก บริเวณหน้าห้างโรบินสัน

          2. ถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ แยกห้วยขวาง แยกหน้าเขต

          3. ถนนศรีอยุธยา หน้าวังสวนผักกาด

          4. ถนนประชาสุข แยกประชาสุข-แยกห้วยขวาง

          5. หน้าโรงเรียนพิบูล-แยกด่วนดินแดง (คู่ขนาน)

          6. หน้า สน.พญาไท-แยกศรีอยุธยา

          7. รามคำแหงขาออก-เข้ารามคำแหง 21 - 26 ช่องทางซ้าย

          8. รามคำแหงซอย 24

          9. รามคำแหงซอย 26

          10. ถนนรัชดาภิเษก ขาออก หน้าสถานทูตจีน

          11. ถนนเพชรบุรีขาเข้า แยกเป๊ปซี่-อโศกเพชรบุรี

          12. แยกอโศก-แยกอโศกเพชรบุรี

          13. แยกแม่พระ-แยกพระราม 9 (ช่องทางซ้าย)

          14. ถนนวิภาวดีรังสิต ขาออกหน้า ร.1 รอ. - สโมสรทหารบก

          15. หน้า NBT-ใต้ทางด่วนดินแดง

          16. อโศกทางลัด ซอย 31 ,33 และ 39

          17. ถนนพลหโยธินขาออก ก่อนถึงแยกเกษตร (ช่องทางซ้าย)

          18. ถนนนครชัยศรี บริเวณหน้ากรมสรรพสามิต

          19. ถนนรัชดาภิเษก หน้าฟอร์จูนขาเข้า-แยกพระราม 9

          20. ถนนพัฒนาการ ซ.9 - ซ.17

          21. ถนนพัฒนาการ ซ.13, ซ.15 , ซ.17 บริเวณตรงข้ามบริษัททรู

ฝนถล่มเชียงราย น้ำท่วมขังหลายจุด


  ทั้งนี้ ทางสถานีอุตุนิยมวิทยาเชียงราย ได้มีการประกาศแจ้งเตือนขอเตือนให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณที่ลาดเชิงเขา ที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ ทางน้ำไหลผ่าน เตรียมความพร้อมรับมือภาวะฝนตกหนัก ที่อาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม ในระยะ 1-2 วันนี้

ฝนถล่มภูเก็ต น้ำท่วมสูงร่วม 1 เมตร


          ฝนกระหน่ำภูเก็ต น้ำท่วมขังหลายจุด หน้าโรงพยาบาลป่าตอง ระดับน้ำสูงร่วม 1 เมตร รถสัญจรไม่ได้

            วันนี้ (26 กันยายน) เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต หลังจากมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ในหลายพื้นที่มีน้ำท่วมขังบนพื้นผิวจราจร ทำให้การสัญจรไปมาค่อนข้างลำบาก นอกจากนี้ ในบางเส้นทาง รถเล็กไม่สามารถผ่านไปมาได้ โดยเฉพาะจุดที่เป็นปัญหาซ้ำซาก ในเขตเทศบาลเมืองป่าตอง ต.ป่าตอง อ.กะทู้ บริเวณถนนผังเมืองสาย ก สี่แยกโรงพยาบาลป่าตอง ซึ่งระดับน้ำสูงประมาณ 50 เซนติเมตร ถึง 1 เมตร เจ้าหน้าเทศบาลเมืองป่าตอง ต้องนำรถน้ำมาปิดบริเวณต้นทาง เพื่อห้ามรถใช้เส้นทางดังกล่าว รวมทั้งนำกำลังอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน มาคอยอำนวยความสะดวกในจุดต่าง ๆ

            และนอกจากบริเวณดังกล่าวแล้ว ยังมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ป่าตองอีกหลายจุด เช่น บริเวณสี่แยกโลมา หน้าหาดป่าตอง ระดับน้ำประมาณ 30 เซนติเมตร บางช่วงของถนนทวีวงศ์ และถนนไสน้ำเย็น มีระดับน้ำประมาณ 20 - 30 เซนติเมตร ขณะที่ในเขตเทศบาลนครภูเก็ต อ.เมือง พบว่า มีน้ำท่วมขังบริเวณสี่แยกถนนศรีสุทัศน์ บริเวณถนนสุรินทร์ หน้าบริษัทเอสยูภูเก็ต จำกัด ถนนสายนาคา-สวนหลวง ร.9 ถนนเยาวราช และบริเวณสี่แยกโลตัส

กบินทร์บุรีน้ำลดต่อเนื่อง แต่ศรีมหาโพธิยังท่วมหนักห้ามรถวิ่ง


      สถานการณ์น้ำท่วมหนักที่อำเภอกบินทร์บุรีคลี่คลายลงหลังฝนหยุดตก แต่ที่อำเภอศรีมหาโพธิหลายพื้นที่ยังอ่วม ตลาดท่าประชุมยังจมน้ำ ประกาศห้ามรถยนต์ทุกชนิดผ่าน

          วันนี้ (26 กันยายน) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากฝนหยุดตกติดต่อกันหลายวันส่งผลให้สถานการณ์น้ำท่วมที่อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี เริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดี ระดับเริ่มลดลงอย่างเห็นได้ชัด จนมองเห็นพื้นผิวการจราจรของถนนหลายสายบ้างแล้ว

          ในส่วนของบริเวณตลาดสดบริบูรณ์ และตลาดสดหริตวร เขตเทศบาลตำบลกบินทร์ มีน้ำท่วมสูง 30-50 เซนติเมตร พ่อค้า-แม่ค้า ยังปิดร้านเงียบแทบจะไม่มีผู้คนเดินผ่าน กลายเป็นตลาดร้าง บางจุดที่น้ำเริ่มแห้งเจ้าของร้านเข้าไปทำความสะอาดบ้างแล้ว ส่วนการสัญจรบางจุดรถเล็กยังผ่านไม่ได้ คาดว่า 2-3 วันน่าจะเข้าสู่สภาวะปกติ

          ขณะที่อำเภอศรีมหาโพธิ ระดับน้ำเริ่มทรงตัว หลายพื้นที่ยังมีระดับน้ำสูงประมาณ 1-2 เมตร ถนนสายหลักที่เข้าสู่ตัวอำเภอศรีมหาโพธิ และตลาดท่าประชุมยังจมมิดอยู่ใต้น้ำ ทางการจึงปิดประกาศห้ามรถยนต์ทุกชนิดผ่าน

          ทั้งนี้ ได้มีหน่วยงานต่าง ๆ เข้าไปดูแลบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนด้านการสัญจรแล้ว เช่น รถยนต์ของทหาร พล.ร.2 รอ.ค่ายจักรพงษ์ และของ ปภ.เขต 3 ปราจีนบุรี นอกจากนี้ยังมีประชาชนที่หารายได้เสริมนำรถไถมาคอยรับคอยส่งโดยคิดค่าโดยสารคนละ 20 บาท บางคนไม่มีก็ไม่เก็บ

คนกรุงทำใจ! กบอ.เผย ฝนตกยาวถึง 20 ต.ค.


          กบอ. ระบุ ฝนตกหนักใน กทม. ถึง 20 ตุลาคม ชี้ปริมาณฝนมากสุดในรอบ 30 ปี แต่ยันเป็นเรื่องปกติจากอิทธิพลร่องมรสุม ขณะที่เขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์ ยังรับน้ำได้อีกร้อยละ 80

          วันนี้ (27 กันยายน) นายพิพัฒน์ เรืองงาม ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการบริหารจัดการน้ำ (สบอช.) แถลงสถานการณ์น้ำ ว่า ในช่วงนี้จนถึงวันที่ 20 ตุลาคม ฝนจะตกหนัก ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติของกรุงเทพมหานคร ภาคกลาง ภาคใต้ และภาคตะวันออก เพราะได้รับอิทธิพลจากร่องมรสุม โดยในกรุงเทพฯ จะมีฝนตกทุกวันมากถึงร้อยละ 90 และตกหนักในหลายพื้นที่ด้วย ซึ่งค่าเฉลี่ยปริมาณฝนตอนนี้มีมากกว่า 48.7 มิลลิเมตร ซึ่งถือเป็นปริมาณที่ตกมากสุดในรอบ 30 ปีของกรุงเทพฯ ส่วนภาคใต้ขอให้ประชาชนระวังฝนตกหนักมีลมกรรโชกแรง และทะเลมีคลื่นมีความสูง 2 เมตร

          สำหรับปริมาณการรับน้ำเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์นั้น นายพิพัฒน์ ระบุว่า ทั้ง 2 เขื่อนยังมีที่ว่างรับน้ำได้อีกถึง 8,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเพียงพอสำหรับช่วงฝนปลายฤดู โดยขณะนี้มีปริมาณน้ำเก็บกักในเขื่อน 13,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งคำนวณแล้วจะรับปริมาณน้ำฝนเพิ่มได้อีกถึงร้อยละ 80 ของความจุเขื่อนและจะเพียงพอใช้ในฤดูแล้ง ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดจะดีขึ้น หากไม่มีฝนตกลงมาซ้ำอีก

          นอกจากนี้ นายพิพัฒน์ ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงการดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำว่า กรมชลประทานจะดำเนินการร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ระบายน้ำออกแม่เจ้าพระยาจากฝั่งตะวันออกและปริมณฑลลงคลองสอง คลองแสนแสบ คลองประเวศ โดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำ และเครื่องผลักดันน้ำ ส่วนฝั่งตะวันตก จะเร่งระบายน้ำจากคลองภาษีเจริญลงคลองสนามชัย คลองมหาชัยสู่อ่าวไทย ทั้งนี้ ในวันนี้และวันพรุ่งนี้ให้ประชาชนระวังระดับน้ำทะเลหนุนสูง และช่วงใกล้ปากอ่าว ระวังการยกตัวน้ำทะเล ช่วง 17.00 - 19.00 น.  

วันพุธที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2555

กทม. เผย เดือนกันยายน ฝนถล่มสูงสุดในรอบ 50 ปี


   กรมอุตุนิยมวิทยา เตือน เตรียมรับฝนตกหนักช่วงปลายกันยายนนี้ ด้านผู้ว่าฯ กทม. รับ อุโมงค์ยักษ์พระราม 9 ระบายน้ำได้จริง แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ ได้ทั้งหมด เผย เดือนกันยายน ฝนตกเมืองกรุงสูงสุดในรอบ 50 ปี

           เมื่อวันที่ 25 กันยายน กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเตือน ฉบับที่ 8 เรื่อง "ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทย" โดยระบุว่า ร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านบริเวณภาคกลาง และภาคตะวันออก ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย มีกำลังค่อนข้างแรง ลักษณะเช่นนี้ ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกชุกหนาแน่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในระยะ 1 - 2 วันนี้

           สำหรับสถานการณ์ฝนในกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 25 - 29 กันยายน จะมีฝนฟ้าคะนองเกือบทั่วไป ร้อยละ 90% ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ตั้งแต่วันที่ 26 - 30 กันยายน นี้

           ด้าน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า จากการวัดปริมาณฝนที่ตกลงมาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เฉพาะช่วงเดือนกันยายนนี้ พบว่า ปริมาณฝนที่ตกลงมานั้นสูงสุดในรอบ 50 ปีของกรุงเทพมหานคร ทำให้ต้องเวลาในการระบายน้ำ ซึ่งก็ไม่ได้ใช้เวลาข้ามคืน ส่วนเรื่องการเตรียมการรับมือสถานการณ์น้ำ ว่า จากที่มีการคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณฝนตกหนัก กทม. จะร่วมกับกรมชลประทานทำการติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณบางปะกงและอ่าวไทยเพิ่มเติมเป็น 2 เท่า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการระบายน้ำ พร้อมให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบจุดเสี่ยง และเตรียมความพร้อมโดยให้นำสถิติในอดีตและปัจจุบันในอดีตมาเปรียบเทียบ เพื่อปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น เพื่อเตรียมรับกับสถานการณ์น้ำ

วันอังคารที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2555

อ่วม! แม่น้ำยมที่บางระกำสูง 9 เมตร - ชาวบ้านขาดน้ำดื่ม


      บางระกำยังอ่วม! หลังระดับน้ำในแม่น้ำยมสูงกว่าตลิ่ง 2 เมตร ส่งผลให้ชาวบ้านย้ายไปอยู่ในบ้านลอยน้ำ ที่ทางจังหวัดร่วมกับบริษัทเอกชนสร้างให้แทน
         สถานการณ์น้ำท่วมในอำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก วันนี้ (25 กันยายน) พบว่า ระดับน้ำในพื้นที่อำเภอบางระกำยังคงเพิ่มสูง และขยายวงกว้างอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมีน้ำหลากจากอำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย ไหลมาสมทบเพิ่ม ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำยมล่าสุดสูง 9 เมตร ซึ่งเกินกว่าระดับน้ำที่สามารถรับได้ถึง 2 เมตร จากปกติที่สามารถรับน้ำได้แค่ 7 เมตร ทั้งนี้ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจังหวัดพิษณุโลก ได้คาดการณ์ไว้ว่า หากภายใน 1-2 วันนี้ ไม่มีฝนตกในพื้นที่ หรือมีน้ำจากพื้นที่อื่นไหลมาสมทบอีก ทางชลประทานจะสามารถระบายน้ำออกสู่แม่น้ำน่านได้หมดภายในปลายเดือนตุลาคมนี้

         ขณะที่ นายสัมฤทธิ์ โสมีชัย ชาวบ้านคลองปลากราย ซึ่งได้รับมอบบ้านลอยน้ำมาเมื่อช่วงกลางปี 2555 ได้เปิดเผยว่า ตนรู้สึกว่าตัวเองและครอบครัวโชคดีมากที่ได้บ้านลอยน้ำมา 1 หลัง ทำให้ไม่ต้องไปสร้างเพิงพักชั่วคราวริมถนนเหมือนทุก ๆ ปีที่เกิดน้ำท่วมในอำเภอบางระกำ เพราะบ้านลอยน้ำนอกจากจะสะดวกสบายในเรื่องไฟฟ้า น้ำประปา และห้องน้ำแล้ว ยังทำให้ตนสามารถคอยดูแลบ้านที่ถูกน้ำท่วมอยู่ในขณะนี้ได้ด้วย แต่ตอนนี้ปัญหาที่ตนและชาวบ้านคนอื่น ๆ กำลังเจออยู่ก็คือ เรื่องน้ำดื่ม เพราะตอนนี้ระบบประปาใช้ไม่ได้ ทำให้ตนและชาวบ้านคนอื่น ๆ เริ่มขาดแคลนน้ำดื่มแล้ว

ฝนตกทั่วกรุง - กทม. ทวีตขอโทษระบายน้ำช้า


   พบกลุ่มฝนหลายพื้นที่ในกรุง ส่งผลฝนตกหนัก กทม. ทวีตขอโทษ ระบายน้ำช้า บก.จร. เตือนระวังอุบัติเหตุ

            วันนี้ (25 กันยายน) เรดาร์รายงานสภาพอากาศ กทม. แจ้งว่า พบกลุ่มฝนอ่อน - ปานกลาง ในพื้นที่เขตวังทองหลาง บางกะปิ ลาดพร้าว จตุจักร ห้วยขวาง วัฒนา สวนหลวง คลองเตย ดอนเมือง สายไหม ต่อเนื่อง อ.ปากเกร็ด จ.ปทุมธานี ทำฝนตกหนักในหลายพื้นที่ ทั้งนี้ ประชาสัมพันธ์ กทม. ได้แจ้งทางทวิตเตอร์ว่า ต้องขออภัยที่ระบายน้ำบางจุดได้ล่าช้า แต่เจ้าหน้าที่ทุกคนก็ทำงานเต็มที่ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้เร็วที่สุด

            ด้าน กองบังคับการตำรวจจราจร หรือ บก.จร. เตือนว่า ขณะนี้บางพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานคร เริ่มมีฝนตก ผิวการจราจรเปียกลื่น อาจส่งผลด้านการจราจรและเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย จึงแจ้งให้ทราบไว้เป็นข้อมูล และควรขับขี่ด้วยความระมัดระวัง

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแจ้งเตือน 14 จังหวัดเสี่ยงภัยน้ำท่วมฉับพลัน

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแจ้งเตือน 14 จังหวัดเสี่ยงภัยน้ำท่วมฉับพลัน วันที่ 24-28 กันยายน 2555 ได้แก่

 1.ปราจีนบุรี
 2.สระแก้ว
 3.นครนายก
 4.ฉะเชิงเทรา
 5. จันทบุรี
 6.ชลบุรี
 7.ระยอง
 8.ตราด
 9.สตูล
 10.ภูเก็ต
 11.พังงา
 12.กระบี่
 13.ตรัง
 14. ระนอง

ปภ.เผยแนวโน้มน้ำท่วมลดลงต่อเนื่อง แต่ยังเฝ้าระวัง

       นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยถึงสถานการณ์อุทกภัยว่า ในหลายพื้นที่ ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง แต่มีบางพื้นที่ที่ระดับน้ำยังทรงตัว สำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสานจังหวัดที่ประสบภัยจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยส่วนหน้า เพื่อเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัยกับหน่วยงานส่วนกลาง
            ซึ่งมีระบบการสั่งการแบบ Single Command รวมถึง จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งระดมกำลังคน วัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักรกล เรือท้องแบน รถกู้ภัย เข้าช่วยเหลือและฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัย รวมทั้งจัดรถผลิตน้ำดื่มรถไฟส่องสว่าง เครื่องกำเนิดไฟฟ้า และรถสุขาเคลื่อนที่ ออกให้บริการประชาชนในพื้นที่ประสบภัย จัดหาเครื่องอุปโภคบริโภค แจกจ่ายแก่ผู้ประสบภัย ตลอดจน จัดเจ้าหน้าที่เร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อจ่ายเงินช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง

            ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์น้ำได้ทางเว็บไซต์ www.waterforthai.com ติดต่อแจ้งเหตุอุทกภัยและขอความช่วยเหลือได้ที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 1 - 18 สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่ หรือสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

น้ำป่าทะลักท่วม อ.ศรีมหาโพธิ สูง 90 ซม.

        น้ำป่าทะลักท่วมตลาดท่าประชุม อ.ศรีมหาโพธิ น้ำสูงกว่า 90 ซม. ชาวบ้านเดือดร้อนกว่า 2,000 ครัวเรือน ด้านอธิบดี ปภ. เผยช่วง 24 - 28 ก.ย.นี้ ระวังฝนตกหนัก 14 จังหวัด ขณะที่สถานการณ์อุทกภัย แนวโน้มลดลงหลายพื้นที่

            ช่วงค่ำวานนี้ (24 กันยายน) ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำท่วม จ.ปราจีนบุรี ว่า น้ำจากต้นแม่น้ำปราจีนบุรี ได้หลากลดระดับจาก อ.กบินทร์บุรี มาที่ อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี โดยน้ำได้ล้นตลิ่งจากวัดใหม่กรงทอง ที่ตั้งติดริมแม่น้ำสูงกว่าตลิ่ง 90 เซนติเมตร ทะลักเข้าท่วมตลาดท่าประชุม เขตเทศบาลตำบลศรีมหาโพธิ อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี ระดับน้ำท่วมสูงกว่า 90 เซนติเมตร รถยนต์ขนาดเล็กไม่สามารถวิ่งผ่านไปได้ ส่งผลกระทบราษฎรเดือดร้อนรวมกว่า 2,000 ครอบครัว ขณะที่ โรงเรียนท่าตูม หมู่ 1 ต.ท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี นายฐานิสร์ เทียนทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เดินทางแจกถุงยังชีพช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม พื้นที่ อ.ศรีมหาโพธิ จำนวน 1,200 ชุด โดยมี น.ส.จิตรา พรหมชุติมา ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี ให้การต้อนรับ

            สำหรับสถานการณ์อุทกภัย จ.ปราจีนบุรี ขณะนี้ ในเขต อ.กบินทร์บุรี เริ่มมีสัญญาณที่ดี คือ ระดับน้ำเริ่มทรงตัว และเริ่มลดลงแล้ว หลังจากที่ได้มีการเปิดประตูระบายน้ำหาดยาง ที่ อ.ศรีมหาโพธิ ตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมา และทำให้ระดับน้ำในเขต อ.เมืองปราจีนบุรี ทรงตัว และไม่เพิ่มขึ้นกว่าเดิม ในขณะที่ในพื้นเขต อ.ศรีมหาโพธิ มีระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะที่ตัว อ.ศรีมหาโพธิ และ สถานีตำรวจภูธรศรีมหาโพธิ มีน้ำท่วมขังแล้วอยู่ที่ 30 - 40 เซนติเมตร ซึ่งเป็นผลมาจากมวลน้ำที่ไหลมาจาก อ.กบินทร์บุรี

นักภัยพิบัติหวั่น กทม. ท่วมปลาย ก.ย. นี้


       นักภัยพิบัติหวั่นน้ำท่วม กทม. ปลายเดือนนี้ ชี้รัฐทำแนวกั้นมากเกิน อาจซ้ำรอยเหตุการณ์เมืองนิวออร์ลีนส์ จวกแนวคิดสร้าง 2 เขื่อนใหญ่ไร้ประโยชน์ แนะบริหารจัดการน้ำดีกว่า

           เมื่อวันที่ 24 กันยายน ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล หน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในประเทศไทยปี 2555 ว่า ปีนี้มีความเป็นห่วงน้ำท่วม กทม. ซึ่งลักษณะการท่วมต่างจากปี 2554 ที่มีน้ำเหนือมหาศาลหลากลงมา แต่ปีนี้จะเกิดจากร่องมรสุมและพายุผิดปกติ ซึ่งทำให้ฝนตกหนักในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกในช่วงวันที่ 29 กันยายน - 2 ตุลาคม แต่จะตกใต้เขื่อนใหญ่ หากฝนตกหนักกังวลเขื่อนเล็ก 2 เขื่อน คือ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนกระเสียว มีศักยภาพรองรับน้ำฝนไม่มาก น้ำจะลงมากรุงเทพฯ

           เมื่อบวกกับมวลน้ำจากตอนบนลงมาถึงเดือนตุลาคม พายุที่จะถล่ม น้ำทะเลหนุนในเดือนนี้อีก ภาคกลางและกรุงเทพฯ จึงยังไม่ปลอดจากน้ำท่วม 100% อย่างที่รัฐหรือนักวิชาการบางคนยืนยัน น้ำท่วมภาคกลางมีหลายปัจจัย ไม่ใช่น้ำเหนืออย่างเดียว แล้วปี 2556 ไทยจะเผชิญภัยแล้ง เพราะเขื่อนต่าง ๆ กลัวจึงปล่อยน้ำหมด

ปภ. เตือนระวังฝนตกชุกใน 14 จังหวัด 24-28 ก.ย. นี้


อธิบดี ปภ. เผย ช่วง 24 - 28 กันยายน นี้ ให้ระวังฝนตกหนักใน 14 จังหวัด อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก
         วันนี้ (24 กันยายน) นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการติดตามสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก จะมีฝนตกชุกหนาแน่นและฝนตกหนักถึงหนักมาก จึงขอเตือนให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย บริเวณที่ลาดเชิงเขา ที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ ทางน้ำไหลผ่านใน 14 จังหวัด ได้แก่ จ.ปราจีนบุรี สระแก้ว นครนายก ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ชลบุรี ระยอง ตราด สตูล ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง และ ระนอง เตรียมความพร้อมรับมือภาวะฝนตกหนักที่อาจจะส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำล้นตลิ่ง ในระหว่างวันที่ 24 - 28 กันยายน 2555 โดยติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศแจ้งเตือนภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด รวมถึงหมั่นสังเกตสัญญาณความผิดปกติทางธรรมชาติ จะได้อพยพหนีภัยได้อย่างทันท่วงที

         ทั้งนี้ ปภ. ได้ประสานให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัย และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 3 ปราจีนบุรี เขต 12 สงขลา เขต 17 จันทบุรี เขต 18 ภูเก็ต จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมกำชับมิสเตอร์เตือนภัยเฝ้าระวังภัยในระยะนี้เป็นพิเศษ รวมไปถึงจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ให้อยู่ในสภาพพร้อมช่วยเหลือประชาชนได้ทันทีที่เกิดภัย

         สำหรับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากภาวะฝนตกหนัก สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่ หรือสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

นักวิชาการ จี้ อย่าชะล่าใจ น้ำไม่ท่วมกรุงเทพฯ

 นักวิชาการ ชี้ น้ำท่วมขังรอบกรุง แก้ได้ยาก เพราะต้องเปลี่ยนท่อระบายน้ำใหม่หมด ซึ่งใช้งบประมาณและเวลาสูง จี้ หลายฝ่ายอย่าชะล่าใจน้ำไม่ท่วมกรุง เพราะพายุอาจจะกระหน่ำช่วงตุลาคมถึงพฤศจิกายน

           วันนี้ (24 กันยายน) นายสัญญา ชีนิมิตร ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) เปิดเผยถึงสาเหตุที่ทำให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ ว่า มีอยู่ 2 ประเด็นด้วยกัน คือ

           1. ปริมาณน้ำฝนที่มากกว่าอัตราระบายน้ำทันที กล่าวคือ โดยปกติการระบายน้ำได้ทันทีจะอยู่ที่ 60 มิลลิเมตร ถ้าหากฝนตกมากกว่า 60 มิลลิเมตร การระบายน้ำก็จะทำได้ช้าลง

           2. ภูมิศาสตร์ของกรุงเทพฯ กล่าวคือ ในบางพื้นที่ของกรุงเทพฯ อาทิ พื้นที่จรัญสนิทวงศ์ รามคำแหง ดินแดง เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำหรือแอ่งกระทะ ทำให้น้ำไหลจากพื้นที่อื่นจากที่สูงกว่ามารวมกันที่นี่ ทำให้การระบายน้ำจะทำให้ช้าลงกว่าเดิม

           ส่วนวิธีการแก้ปัญหาน้ำท่วมบนพื้นที่แอ่งกระทะ นายสัญญา ระบุว่า ต้องใช้เครื่องสูบน้ำช่วย แต่วิธีการที่ดีที่สุด คือการเพิ่มขนาดท่อระบายน้ำใหม่ ให้มากกว่า 60 มิลลิเมตร ซึ่งถือว่าเป็นไปได้ยาก เพราะต้องวางระบบท่อใหม่ทั้งหมด ส่งผลให้ในช่วงก่อสร้างอาจจะทำให้การจราจรติดขัดยิ่งกว่าเดิม อีกทั้งต้องใช้งบประมาณหลายหมื่นล้านบาทด้วย อย่างไรก็ตาม ถนนเส้นใหม่ที่ถูกสร้างขึ้น ทาง กทม. ได้ปรับขนาดท่อระบายน้ำให้ระบายน้ำได้ 80 - 100 มิลลิเมตรแล้ว

วันจันทร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2555

แม่น้ำท่าจีนทะลักท่วมตลาดบางหลวง นครปฐม


      ฝนกระหน่ำนครปฐม น้ำท่าจีน ทะลักกระสอบทราย ท่วมตลาดบางหลวง ระดมเครื่องสูบน้ำออก ยังต้องเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง

          วันนี้ (24 กันยายน) หลังจากมีฝนตกอย่างหนักในพื้นที่ จังหวัดนครปฐม โดยเฉพาะที่ตลาดบางหลวง ร.ศ.122 ปี อำเภอบางเลน เป็นตลาดเก่า และเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ถูกพายุฝนถล่มอย่างหนักเป็นเวลากว่า 1 ชั่วโมง จนเป็นเหตุให้ปริมาณของน้ำฝนจำนวนมากที่ตกลงมา ได้เอ่อทะลักเข้าท่วมในบ้าน และร้านค้าที่เรียงรายอยู่ในตลาดนับ 100 ห้อง ต้องถูกน้ำทะลักเข้าท่วมกว่า 10 ห้อง

          ทั้งนี้ เนื่องจากที่ผ่านมา ทางเทศบาลตำบลบางหลวง ได้นำกระสอบทรายนับหมื่นใบ มาทำแนวกั้นรอบตัวตลาดเอาไว้ เพื่อป้องกั้นน้ำในแม่น้ำท่าจีน เอ่อทะลักเข้าท่วมตัวตลาด เมื่อมีฝนตกอย่างหนัก จึงทำให้น้ำไม่สามารถไหลออกจากตัวตลาดได้ จึงต้องนำรถสูบน้ำทางเทศบาลตำบลบางหลวง และจากตำบลบางเลน จำนวน 5 คัน ระดมเร่งสูบน้ำในตัวตลาดลงสู่แม่น้ำท่าจีน และต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง

ฝนถล่มพัทยา ทำน้ำท่วมขังถนนหลายจุด

    ฝนถล่มพัทยา-บางละมุง ทำน้ำท่วมขังหลายจุด บางจุดสูงเกือบ 1 เมตร รถเล็กผ่านไม่ได้

            ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงกลางดึกของคืนวันที่ 23 กันยายน 2555 ที่ผ่านมา ได้เกิดฝนตกหนักหลายชั่วโมงติดต่อกันในพื้นที่เมืองพัทยา และบางละมุง จังหวัดชลบุรี จนท่อระบายน้ำไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังหลายจุด และถนนหลายสาย เช่น ถนนเลียบสายชายหาดพัทยาตลอดทั้งสาย ถนนพัทยาสายสอง

            ทั้งนี้ ในหลายเส้นทางมีน้ำท่วมขังสูงเกือบ 1 เมตร ทำให้รถเล็กไม่สามารถสัญจรผ่านเส้นทางดังกล่าวได้ ขณะเดียวกัน หลายจุดที่ถูกน้ำท่วมขังยังเต็มไปด้วยเศษขยะ และเศษถุงพลาสติกที่ถูกน้ำซัดลอยมากองเกลื่อนกลาดอยู่ตามพื้นถนนด้วย

สมิทธ เตือนคนไทยเจอภัยแล้ง อดน้ำปีหน้าแน่

      สมิทธ เตือนคนไทยอดน้ำปีหน้าแน่ เหตุรัฐบาลกลัวน้ำท่วมปล่อยน้ำหมด จวกแต่งตั้ง ปลอดประสพ ไม่มีความรู้การบริหารจัดการน้ำ

         เมื่อวันที่ 23 กันยายน นายสมิทธ ธรรมสโรช ประธานมูลนิธิเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวในงานสัมมนาวิชาการ เรื่อง "7-7-7- ภัยพิบัติ" โดยได้เตือนว่า เวลานี้ภัยพิบัติในประเทศไทยสลับกันเกิดแต่ละภาคในแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน ในขณะนี้ยังมีภัยแล้งถึง 4 จังหวัดในช่วงหน้าฝน แต่รัฐบาลกลัวน้ำท่วมอย่างเดียว จนปล่อยน้ำทิ้งเกือบหมดเขื่อน ซึ่งปีหน้าเกิดภัยแล้งแน่ คาดว่าจะมาตั้งแต่เดือนธันวาคมเป็นต้นไป


         นายสมิทธ กล่าวต่อไปว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญกลับมาชัดเจนแล้ว จะอยู่ประเทศไทย 8 เดือนถึง 1 ปี ประชาชนได้รับผลกระทบแน่นอนเพราะรัฐบาลปล่อยน้ำหมดแล้ว มีน้ำในเขื่อนทั่วประเทศเพียง 64 เปอร์เซ็นต์ แค่บริโภคอย่างเดียวก็แย่แล้ว จากนี้ไปโอกาสที่จะมีพายุเข้าไทยไม่มี ปริมาณฝนไม่มีแล้วเริ่มน้อยลง เตรียมตัวรับมือก็ไม่ทันแล้ว เพราะปล่อยน้ำทิ้งไปแล้วจะเอาคืนมาก็ไม่ได้ คนไทยเตรียมตัวอดน้ำกันได้เลย

         ทั้งนี้ รัฐบาลได้เตรียมมาตรการอะไรไว้บ้างหรือยัง เรื่องนี้ควรไปถามนายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธาน กบอ. ว่าจะรับผิดชอบอย่างไร บริหารกันอย่างไร ซึ่งนายปลอดประสพเองจะไปรู้อะไร บริหารน้ำในตู้ปลา ไม่เคยบริหารน้ำในเขื่อนกลัวแต่น้ำท่วม และผลกระทบเหล่านี้ไม่ควรเกิดขึ้นถ้ารัฐบาลใช้คนที่เชี่ยวชาญเรื่องน้ำมาจัดการน้ำของประเทศ

น้ำทะลักท่วมเขตเศรษฐกิจ อ.ศรีมหาโพธิ เต็มพื้นที่แล้ว

     น้ำทะลักเขตเศรษฐกิจ อ.ศรีมหาโพธิ เต็มพื้นที่แล้ว สูง 70 ซม.-1 เมตร ชาวบ้านเร่งเก็บข้าวของ คาดน้ำจะท่วมราว 5-7 วัน

          วันนี้ (24 กันยายน) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านในเขตเศรษฐกิจอำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี ต่างเร่งเก็บข้าวของขนย้ายขึ้นที่สูงหนีน้ำกันจ้าละหวั่น หลังจากมวลน้ำจากอำเภอกบินทร์บุรีได้หลากเข้าท่วมในเขตเศรษฐกิจของอำเภอศรีมหาโพธิเต็มพื้นที่แล้ว โดยคาดว่า น้ำจะท่วมอยู่เช่นนี้ 5-7 วัน

          อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ชาวบ้านไม่ได้เก็บของขึ้นที่สูงกันมากนัก เนื่องจากคาดการณ์กันว่า ทางเทศบาลน่าจะสามารถป้องกันเขตเศรษฐกิจสำคัญเอาไว้ได้ แต่เนื่องจากน้ำมีปริมาณมาก ทำให้ไหลเข้าท่วมเขตเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว โดยจากการตรวจสอบพบว่า ในเขตเศรษฐกิจมีน้ำท่วมขังสูงประมาณ 70 เซนติเมตร แต่มีบางจุดที่ระดับน้ำสูงถึง 1 เมตร ทำให้ทางเทศบาลตำบลศรีมหาโพธิประกาศห้ามรถทุกชนิดผ่านเข้าออกเด็ดขาด และขอให้เลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่นแทน

          ขณะเดียวกัน จากการตรวจสอบเส้นทางก็พบว่า ถนนหลายสายมีน้ำท่วมขัง ทั้ง สาย 3079 โคกขวาง-คลองรั้ง ศูนย์นิคมอุตสาหกรรม 304 บางช่วงมีน้ำท่วมขัง ขณะที่ถนนท้องถิ่น หรือทางหลวงชนบทหลายเส้นทาง อย่างเช่น บ้านเกาะสมอ บ้านดงกระทงยาม มีน้ำท่วมสูง เช่นเดียวกับ ถนนสายท่าตูม-บ้านย่านนางวิ่ง และสายท่าตูม-วัดอรัญญไพรศรี ก็ถูกตัดขาด เพราะมีน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร

วันอาทิตย์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2555

กทม.ตอบข้อสงสัย ฝนตกทีไร น้ำท่วมกรุงเทพทุกที


      หลังจากในช่วง 3-4 วันที่ผ่านมา พื้นที่กรุงเทพต้องเจอกับสถานการณ์ฝนตกหนัก ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังและการจราจรอัมพาตตามมา สร้างความเดือดร้อนให้คนกรุงเป็นอย่างมาก จนหลายๆ คนอาจเกิดคำถามว่า ทำไมช่วงนี้ฝนตกทีไรน้ำต้องท่วมขังทุกที?

      ซึ่งนายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ออกมาชี้แจงถึงกรณีดังกล่าว โดยเปิดเผยว่า

      โดยปกติปริมาณฝนในกรุงเทพฯ เฉลี่ยจะอยู่ที่เดือนละ 125 มิลลิเมตร หรือปีละ 1,500 มิลลิเมตร แต่สถานการณ์ฝนตกหนักในกรุงเทพฯ ขณะนี้ มีปริมาณฝนที่ตกลงมากเกิน 100 มิลลิเมตรทุกวัน ซึ่งรวมล่าสุดในเดือนกันยายน อยู่ที่ 800 มิลลิเมตร โดยเฉพาะ 3-4 วันที่ผ่านมา มีฝนตกหนักถึง 400 มิลลิเมตร

     ทั้งนี้ระบบระบายน้ำในกรุงเทพฯ รับปริมาณน้ำฝนได้ไม่เกิน 60 มิลลิเมตร ซึ่งเป็นระบบเดิมที่ใช้กันมานานแล้ว หากต้องการให้ระบายน้ำได้เร็วกว่านี้ คงต้องรื้อระบบท่อใน กทม.ใหม่ทั้งหมด ซึ่งต้องใช้งบประมาณที่สูงมาก

     ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสงสัยว่า อุโมงค์ยักษ์ของ กทม.ทำงานหรือไม่นั้น
นายธีระชน ยืนยันว่า  อุโมงค์ยักษ์ทำงานอยู่ตลอดเวลา โดยมีเครื่องสูบน้ำอยู่ภายใน 4 ตัว (เครื่องหลัก 3ตัว สำรอง 1ตัว แต่ละตัวทำงาน 8ชั่วโมง) ซึ่งฝนตกหนักขนาดนี้หากไม่มีอุโมงค์ยักษ์ อาจต้องใช้เวลาระบายน้ำเป็นวัน

ถนนลำปางทรุดลึกเกือบ 4 เมตร หลังน้ำวังกัดเซาะ

  
    ถนนลำปางทรุดตัว ลึกเกือบ 4 เมตรแล้ว หลังน้ำวังกัดเซาะ หวั่นขยับใกล้บ้านเรือน

           ถนนลาดยางสายหลัก ในหมู่บ้านลำปางกลางฝั่งตะวันตก ม.3 ต.ปงแสนทอง อ.เมือง จ.ลำปาง หลังเกิดรอยแตกแยก และทรุดตัวลง ในช่วงอิทธิพลของพายุวีเซนเต เมื่อเดือนกรกฎาคม 2555 สาเหตุจาก แม่น้ำวัง ที่ไหลโค้ง ตรงเข้าสู่ริมตลิ่งของถนน ยังทำให้ถนนเกิดแตกและทรุดตัวลงอีก

           โดยเมื่อวันที่ 22 กันยายน นายไพฑูรย์ โพธิ์ทอง นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองเขลางค์นคร กล่าวว่า จากฝนที่ตกหนักลงมาในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา จนทำให้ในหลายพื้นที่ เกิดสถานการณ์น้ำท่วมโดยที่ปริมาณน้ำก็ไหลหลากลงสู่แม่น้ำวัง จึงทำให้ถนนสายดังกล่าวทรุดตัวลงไปเพิ่มมากยิ่งขึ้น ขณะนี้ ลึกเกือบ 4 เมตร แล้ว และจุดที่ทรุดตัวลง ก็ได้ดึงแนวถนนที่ยังไม่เสียหายทรุดลงตามไปด้วย ดังนั้น จึงมีความจำเป็น ที่จะได้นำปัญหาดังกล่าว เข้าที่ประชุมสภาเทศบาลเมืองเขลางค์นคร ในเดือนตุลาคม 2555 นี้ เป็นปีงบประมาณใหม่ เพื่อขอสภาผ่านร่างงบประมาณ 6 ล้านบาท มาดำเนินการ

ปภ.สรุปพื้นที่ประสบอุทกภัยเหลือ 13 จังหวัด

     ปภ. สรุปพื้นที่ประสบอุทกภัย เหลือ 13 จังหวัด ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 72,589 ครัวเรือน 177,496 คน

           วันนี้ (23 กันยายน) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานสถานการณ์อุทกภัย ปัจจุบันยังคงมีพื้นที่ประสบอุทกภัย รวมทั้งสิ้น 13 จังหวัด ประกอบด้วย จ.สระแก้ว ปราจีนบุรี นครปฐม สุโขทัย พิษณุโลก นครสวรรค์ สุพรรณบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ชัยภูมิ พิจิตร นครนายก และ จ.ตาก รวม 39 อำเภอ 274 ตำบล 1,728 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 72,589 ครัวเรือน 177,496 คน

น้ำท่วมพิษณุโลก 3 อำเภอ ยังน่าเป็นห่วง! หลังน้ำยมเพิ่มอีก

  น่าเป็นห่วง! อ.เมืองพิษณุโลก-พรหมพิราม - บางระกำ ระดับน้ำยมเพิ่มขึ้นอีก 30 ซม. – น้ำท่วมขยายวงกว้าง

          สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.พิษณุโลก วันนี้ (23 กันยายน) ยังน่าเป็นห่วง และมีแนวโน้มที่สูงขึ้น เนื่องจากยังมีน้ำไหลหลากจากจังหวัดแพร่ และ จังหวัดสุโขทัยรอบใหม่  ทำให้ระดับน้ำยมเพิ่มขึ้นอีก 30 เซนติเมตร โดยล่าสุดอยู่ที่ระดับ 8.83 เมตร ขณะที่แม่น้ำยมรับได้เพียง 7 เมตร ทำให้พื้นที่น้ำท่วมขยายวงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะใน อ.เมือง อ.พรหมพิราม และ อ.บางระกำ

          ทางด้านจังหวัดพิษณุโลกประกาศ 7 อำเภอ 25 ตำบล 133 หมู่บ้าน เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติฉุกเฉินแล้ว  โดย 5 อำเภอ คือ อ.บางกระทุ่ม อ.วังทอง อ.ชาติตระการ อ.เนินมะปราง และ อ.นครไทย น้ำได้คลี่คลายแล้ว แต่ยังเหลืออีก 3 อำเภอ คือ อ.บางระกำ อ.พรหมพิราม และ อ.เมือง ที่กำลังประสบปัญหาน้ำท่วม

          อย่างไรก็ตาม ทางผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ได้อนุมัติงบประมาณของจังหวัดจำนวน 13 ล้านบาท ในการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยทั้งหมดแล้ว ขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังได้เตรียมพร้อมในการช่วยเหลือประชาชน  ตลอด 24 ชั่วโมง

วันเสาร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2555

จ.ปราจีนบุรี หลายอำเภอยังวิกฤต

 สถานการณ์น้ำท่วมในหลายอำเภอของจังหวัดปราจีนบุรียังอยู่ในขั้นวิกฤต หลังจากที่มวลน้ำจากจังหวัดสระแก้ว ยังไหลทะลักมาทางแควพระปรง รวมทั้งน้ำจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ซึ่งยังมีปริมาณมากช่วงดึกที่ผ่านมาระดับน้ำยังเพิ่มสูงขึ้น เทศบาลตำบลกบินทร์ อำเภอกบินทร์บุรี ถนนเข้าออกถูกตัดขาดสิ้นเชิง

บางระกำ อีก 2 วัน น้ำยมท่วมเต็มที่ 7 หมื่นไร่

  บางระกำ พิษณุโลก น้ำยมเพิ่มวันละ 20 ซ.ม. อีก 2 วัน ท่วมเต็มที่ กิน 70,000 ไร่ คาด พ.ย. ระบายหมด

     วันนี้ (22 กันยายน) สถานการณ์น้ำท่วม จ.พิษณุโลก ขณะนี้ หนักสุดอยู่ที่ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ภาพรวมขณะนี้มีพื้นที่ 3 อำเภอ ที่ยังคงมีน้ำท่วมขังได้แก่ อ.พรหมพิราม, ต.บ้านกร่าง อ.เมืองพิษณุโลก และ อ.บางระกำ ด้วยอิทธิพลของแม่น้ำยมล้นตลิ่ง กินเนื้อที่น้ำท่วม 70,000 ไร่

      โดย นายบรรดิษฐ์ อินต๊ะ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพิษณุโลก เปิดเผยว่า ขณะนี้ อ.บางระกำ ได้รับผลกระทบจากแม่น้ำยมมากที่สุด วันนี้ แม่น้ำยมที่สถานีวัดน้ำ Y16 อ.บางระกำ สูง 8.37 เมตร เพิ่มจากวานนี้ ที่สูง 8.17 เมตร (ความจุลำน้ำ 7 เมตร) เพิ่มขึ้นวันละ 20 เซนติเมตร และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกต่อเนื่องไปอีกประมาณ 2 วัน เนื่องจากน้ำยมที่ท่วมเขต อ.เมือง จ.สุโขทัย อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก กำลังไหลมารวมกันที่ อ.บางระกำ ขณะนี้มีพื้นที่ถูกน้ำท่วมแล้ว 50,000 ไร่ และถ้ารวมพื้นที่น้ำท่วม อ.เมืองพิษณุโลก และ อ.พรหมพิราม จะมีพื้นที่น้ำท่วมขังแล้ว 70,000 ไร่

      สำหรับแผนการระบายน้ำในช่วงปลายฤดูฝน ถ้าไม่มีฝนตกมาเพิ่มในช่วงนี้ น้ำท่วมขังในเขต อ..บางระกำ จะเพิ่มสูงสุดในอีก 2 วันข้างหน้า จากนั้นระดับน้ำจะค่อย ๆ ลดลง จากการไหลผ่านแม่น้ำยม เข้าสู่ จ.พิจิตร และการระบายน้ำออกสู่แม่น้ำน่าน โดยชลประทานจะระบายน้ำที่ท่วมทุ่งในเขต อ.บางระกำ ให้หมดในช่วงประมาณกลางเดือนพฤศจิกายน 2555

นครปฐมน้ำท่วมแล้ว 6 อำเภอ

       ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม รับรายงานสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ พบเป็นพื้นที่ประสบภัยแล้ว 6 อำเภอ ประชาชนเดือดร้อนเกือบ 2 หมื่นราย

       เมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 21 ก.ย.55 นายนิมิต จันทน์วิมล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ส่วนหน้า จังหวัดนครปฐม ได้รับแจ้งจาก ร.ต.พงศธร ศิริสาคร หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครปฐมว่า จังหวัดนครปฐมเริ่มมีสถานการณ์อุทกภัยน้ำเอ่อล้นตลิ่งในพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน 2555 เป็นต้นมาแล้ว

        โดยปัจจุบันมีพื้นที่ประสบภัยทั้งสิ้น จำนวน 6 อำเภอ ดังนี้ อำเภอบางเลน อำเภอนครชัยศรี อำเภอกำแพงแสน อำเภอสามพราน อำเภอเมือง และอำเภอดอนตูม

สระแก้ว-สถานการณ์น้ำท่วมเริ่มคลี่คลาย..บางจุดน้ำแห้งแล้ว


สถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดสระแก้ว เริ่มคลี่คลายและเริ่มกลับเข้าสู่สภาวะปกติ แต่ยังคงเหลือที่บ้านหนองเอี่ยน ซึ่งเป็นที่ลุ่มต้องรับน้ำจากแหล่งอื่น คาดจะใช้เวลา 2-3 วันจะเข้าสู่ภาวะปกติได้

 โดยเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา (22 ก.ย.) ทีมข่าวได้ออกสำรวจหลายจุดพบว่า บริเวณหน้า บขส.อรัญประเทศ, รางรถไฟ, หน้าหอนาฬิกา ซึ่งใช้เป็นศูนย์คอยช่วยเหลือชาวบ้านวันนี้น้ำแห้งไปหมดแล้ว รวมไปถึงบริเวณถนนหน้าพระสยามเทวาธิราช ไปจนถึงไฟแดงหน้าวัดหลวงอรัญ และถนนหน้าธนาคารกรุงไทย ถึงทางเข้าโรงไฟฟ้า น้ำก็แห้งเกือบหมดแล้ว

ขณะที่ตลาดวังปาตอง ยังมีน้ำท่วมอยู่ แต่รถจักยานยนต์สามารถผ่านไป-มาได้แล้ว พ่อค้า แม่ค้า ที่อพยพออกมาขายของอยู่ที่ทางเข้าสวนกาญจนาภิเษก บอกว่ากำลังจะเตรียมขนย้ายกลับเข้าไปขายในตลาดเช่นเดิม

ส่วนที่บริเวณสะพานพรหมโหด บ้านหนองเทา ต.บ้านใหม่หนองไทร น้ำลดลงจนมองเห็นสันดอนแล้ว ชาวบ้านที่นำแพะมาเลี้ยงที่กลางถนนบ่นกับทีมข่าวว่า ปีนี้น้ำแรงมากและมาอย่างรวดเร็วทำให้น้ำพัดลูกแพะไปกับสายน้ำหลายตัว

ส่วนที่ตำบลท่าข้าม โดยเฉพาะที่บ้านวังมน และบ้านโคกสะแบง น้ำได้ลดลงจนรถบรรทุกสามารถนำสินค้าเข้าไปยังโกดังได้แล้ว และชาวบ้านเริ่มเดินลุยน้ำออกมายังตลาดโรงเกลือเองได้แล้วเช่นกัน

แต่บริเวณใกล้คลองพรหมโหด บริเวณวัดเกาะแก้ว กิโลเมตรที่ 5 ฝั่งขวา ทหารและชาวบ้านยังต้องนำข้าวนั่งเรือเข้าไปถวายพระในวัด แต่คาดว่าภายในวันนี้ (22 ก.ย.) น้ำน่าจะลดลงอีกมาก เนื่องจากขณะนี้มวลน้ำได้ไหลเข้าไปยังบ้านหนองเอี่ยน ซึ่งเป็นเขตรอยต่อระหว่างชายแดนกัมพูชา บ้านสตึงบท จังหวัดบันเตียเมียนเจย คาดจะต้องใช้เวลาอีกประมาณ 2 - 3 วันน้ำถึงจะลงลง  เนื่องจากบริเวณนี้เป็นที่ลุ่ม มวลน้ำจากสถานที่ต่าง ๆ จะไหลลงมาสู่บริเวณนี้

นครสวรรค์ขอ 33 ล้าน ช่วย​ผู้ประสบภัย​แล้ง

นายจำ​เนียร ​เร่ง​เทียน ​เกษตรจังหวัดนครสวรรค์ ​เปิด​เผยว่า ช่วงระหว่าง​เดือนมี.ค.-พ.ค.ที่ผ่านมา ​ได้​เกิดภาวะฝน​แล้งอย่างต่อ​เนื่อง​ใน​แทบทุกพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อ​การปลูกพืช​เกือบทุกชนิด ​จึง​ให้​เกษตรอำ​เภอทุกอำ​เภอดำ​เนิน​การสำรวจ​ความ​เสียหาย ​เพื่อขอรับ​การสนับสนุนงบประมาณ​ไปช่วย​เหลือ​เกษตรกร​เป็น​เงินสด ปรากฏว่า อ.ลาดยาว ​เกษตรกร​ได้รับ​ความ​เดือดร้อน 2,012 ราย พืชที่​เสียหาย​เป็นนาข้าว 6,044 ​ไร่?พืช​ไร่ 34,732 ​ไร่ ​และพืชอื่น 60 ​ไร่ ของบประมาณช่วย​เหลือ 32,788,068 บาท ​และอ.ชุมตาบง ​เกษตรกร​ได้รับ​ความ​เดือดร้อน?64 ราย พืชที่​เสียหาย​เป็นพืช​ไร่ 558 ​ไร่ ของบประมาณช่วย​เหลือ 467,046 บาท รวม​ทั้ง 2 อำ​เภอ ​เป็น​เงิน 33,255,114 บาท ขณะนี้​ได้ผ่าน​ความ​เห็นชอบจากคณะกรรม​การช่วย​เหลือ​ผู้ประสบภัยพิบัติระดับจังหวัด ​เรียบร้อย​แล้ว ​และ​ได้รายงานขอ​ความช่วย​เหลือ​ไปที่กรมส่ง​เสริม​การ​เกษตร​เรียบร้อย​แล้ว

นายสามารถ ณ ระนอง นักวิชา​การส่ง​เสริม​การ​เกษตรชำนาญ​การ กล่าว​เพิ่ม​เติมว่าหาก​ได้รับ​การอนุมัติงบประมาณดังกล่าวจากกรมส่ง​เสริม​การ​เกษตร​แล้ว ​ก็จะประสานกับธนาคาร ธ.ก.ส.​เพื่อ​โอน​เงิน​เข้าบัญชีของพี่น้อง​เกษตรกร​โดยตรงที่​ได้​แจ้ง​ไว้ต่อ​ไป ​เพื่อ​ให้พี่น้อง​เกษตรกรนำ​ไป​ใช้​เพื่อ​การลงทุน​ทำ​การ​เกษตร​ในรอบต่อ​ไป

วันศุกร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2555

น้ำป่าทะลัก! จ.อุตรดิตถ์ อ่วม รุนแรงกว่าปี 2549


    น้ำป่าทะลัก! 2 หมู่บ้านใน จ.อุตรดิตถ์ อ่วม รุนแรงกว่าปี 2549 และหนักที่สุดในปีนี้ ถนนถูกตัดขาด อีกทั้งน้ำยังไหลทะลักเข้าพื้นที่ไร่นาของชาวบ้าน เสียหายกันระนาว

     เมื่อเวลา 04.30 น. ของวันนี้ (21 กันยายน) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกิดเหตุน้ำป่าจากเทือกเขาพลึง และภูเขาพญาพ่อ ที่ไหลมาตามคลองแม่ริด และได้เอ่อล้นทะลักเข้าท่วมในพื้นที่หมู่บ้านห้วยกั้ง ม.6 และหมู่บ้านห้วยลึก ม.8 ต.บ้านด่านนาขาม อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ หลังจากเกิดฝนตกหนักตลอดทั้งวันที่ผ่านมา

      ทั้งนี้ จากเหตุการณ์ดังกล่าว ชาวบ้านต่างอพยพหนีตายกันอย่างชุลมุน เนื่องจากน้ำป่าไหลแรงและน่ากลัวกว่าปี 2549 และหนักหน่วงกว่า 3 ครั้งในปีนี้ โดยล่าสุดในสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็เกิดเหตุน้ำป่าไหลหลากถล่มหมู่บ้านแห่งนี้ และกระแสน้ำได้พัดพาเอาขยะพวกกิ่งไม้จากภูเขาเข้ามายังหมู่บ้านจำนวนมาก และกิ่งไม้ก็ได้อุดติดเข้าไปในร่องน้ำที่ฝายห้วยกั้ง ทำให้น้ำเปลี่ยนทิศทางไปล้นออกยังบริเวณใกล้เคียง อีกทั้งยังเข้าท่วมพื้นที่ไร่นาของชาวบ้าน นอกจากนี้ บริเวณถนนที่ผ่านฝายดังกล่าว ก็เสียหายหมดทั้งสาย ส่วนคันดินที่ยกสูงเป็นถนนก็ถูกน้ำพัดพังหมด

      อย่างไรก็ดี ถนนสายนี้เป็นเส้นเดียวที่ชาวสวนลางสาด-ลองกอง ใช้ลำเลียงผลไม้ออกสู่ตลาด แต่ในวันนี้ไม่สามารถขนย้ายได้ เนื่องจากถนนพัง และหากซ่อมไม่เสร็จ หรือล่าช้า ก็จะส่งผลให้ผลไม้ทั้งหมดเน่าเสีย แต่ทั้งนี้ จากเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลากดังกล่าว ก็ไม่มีชาวบ้านได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต เนื่องจากชาวบ้านมีการเตรียมพร้อมรับมือมาอย่างดีแล้ว

ปราจีนฯ อ่วม น้ำทะลักท่วมตลาดท่าประชุม 40 ซม.

น้ำทะลักเข้าท่วมตลาดท่าประชุม เขตเศรษฐกิจ อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี สูงกว่า 40 ซม. เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์ริมแม่น้ำปราจีนบุรี ใกล้ชิด

     สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี ล่าสุด วันนี้ (21 กันยายน) จากการตรวจสอบ พบว่า ปริมาณน้ำฝนที่หนักอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับน้ำจาก อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ไหลเข้ามาสมทบเพิ่มปริมาณมากขึ้น ส่งผลทำให้ภายในตัวตลาดท่าประชุม หรือตลาดเทศบาลตำบลศรีมหาโพธิ มีน้ำท่วมสูงกว่า 40 เซนติเมตร บรรดาร้านค้าภายในตลาด ต่างรีบปิดเพื่อเก็บสินค้าให้พ้นน้ำ เนื่องจากเกรงว่าจะได้รับความเสียหาย โดยเทศบาลเมืองปราจีนบุรี รีบเร่งระบายน้ำออกตลอดทั้งคืน โดยใช้เครื่องสูบน้ำ จำนวน 20 กว่าเครื่อง ขนาดเครื่อง 50 แรงม้า เร่งระบายออกเร็วที่สุด โดยน้ำที่ท่วมระดับน้ำเฉลี่ย 50 เซนติเมตร น้ำไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนหลาย 100 หลังคาเรือน ท่วมบนถนนราษฎรดำริ ถนนหน้าสำนักงานเทศบาลเมืองปราจีนบุรี ขนส่งจังหวัดปราจีนบุรี ชุมชนแก้วพิจิตร หน้าธนาคารกรุงเทพ หน้าธนาคารกรุงไทย ตลาดชายน้ำ หน้าโรงเรียนปราจีนกัลยาณี สี่แยกไฟแดงกลางเมืองปราจีนบุรี

     นอกจากนี้ เทศบาลตำบลศรีมหาโพธิ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจวัดระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะแนวคันดินกั้นริมแม่น้ำปราจีนบุรี ข้างวัดใหม่กรงทอง ที่หลายฝ่ายกังวลว่า หากพังลงมาอาจจะทำให้ตลาดท่าประชุม จมน้ำทันที

สถานการณ์น้ำท่วมปีนี้ ไม่รุนแรง แต่ต้องระวัง !!!


    ดร.เสรี ศุภราทิตย์ เจาะลึกสถานการณ์น้ำท่วมปี 2555 โดยขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวังเขื่อนป่าสักฯ รวมถึงจับตาดู 2 จุดเสี่ยงใกล้ กทม.

     สืบเนื่องจากสภาพฟ้า ฝน ในขณะนี้ ที่ทำให้หลายฝ่ายต่างวิตกกังวลว่า น้ำจะท่วมกรุงเทพฯ หรือไม่นั้น ล่าสุด วันนี้ (21 กันยายน) ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์พลังงานและสิ่งแวดล้อม และผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้สัมภาษณ์ว่า สถานการณ์น้ำในขณะนี้ถือว่าไม่น่ากังวล แม้จะมีฝนตกในเขตกรุงเทพมหานคร และในพื้นที่ภาคกลางค่อนข้างมาก แต่ก็เป็นไปตามร่องมรสุมปกติ

     แต่ขณะเดียวกัน ฝนเหล่านี้เป็นฝนที่ตกใต้เขื่อน จึงทำให้น้ำท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำในหลายจังหวัด ดังนั้นเมื่อระดับน้ำในลำน้ำลดลง ปริมาณน้ำในทุ่งก็จะไหลไปตามแม่น้ำปกติ โดยขณะนี้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยายังอยู่ที่ประมาณ 1,600 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งที่สามารถรับน้ำได้ 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ฉะนั้น จึงคาดว่าไม่น่าจะไหลเข้าท่วมเมืองเหมือนปีที่ผ่านมา

     ดร.เสรี  ยังเล่าถึงกรณีน้ำท่วมพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ว่า เนื่องจากคันกั้นน้ำในบางพื้นที่ รองรับน้ำรับได้ไม่ถึง 1,500 ลูกบาศก์เมตร ทั้งยังมีจุดเสี่ยงอยู่ที่เขตปริมณฑล แม้ปริมาณน้ำเหนือจะน้อย แต่มีการคาดการณ์ว่า ในวันที่ 24 กันยายนนี้ จะมีฝนตกหนัก ก็อาจทำให้เกิดน้ำท่วมได้ นอกจากนี้ ยังมีจุดเสี่ยงต่อมาอีก 2 จุดคือ ที่ อ.บางเลน จ.พระนครศรีอยุธยา เพราะน้ำจะถูกผันไปยังบริเวณนี้ และที่บริเวณคลอง 13 (หนองจอก-ลาดกระบัง)

วันอังคารที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2555

ทศบาลนครเชียงใหม่ เร่งสร้างพนังกั้นน้ำปิงสูงอีก 1 เมตร ระยะทางกว่า 11 กิโลเมตร หวั่นน้ำไหลท่วมเมือง


      วันนี้ (18 กันยายน) เทศบาลนครเชียงใหม่ ระดมเจ้าหน้าที่พร้อมเครื่องจักร ทำพนังปูนสูง 1 เมตร บริเวณริมแม่น้ำปิง เพื่อป้องกันระดับน้ำในแม่น้ำปิงขึ้นสูงกว่า 3.70 เมตร ซึ่งถือว่าเป็นจุดวิกฤติน้ำท่วมเข้าเมืองฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง เนื่องจากเป็นพื้นที่เศรษฐกิจและที่พักอาศัยของประชาชน

        ด้านนายทัศนัย บูรณะปกรณ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ตอนนี้ได้สร้างพนังปูนริมฝั่งแม่น้ำปิงที่ไหลผ่าน จ.เชียงใหม่ ระยะทาง 11 กิโลเมตรแล้ว อย่างไรก็ตาม จุดที่น่าเป็นห่วง คือ ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง ที่มีสิ่งก่อสร้างหลายชนิด อยู่ติดริมแม่น้ำ ทำให้อาจจะเสริมพนังกั้นน้ำได้ยาก ดังนั้นมีวิธีแก้ปัญหาเบื้องต้นคือ ขยับแนวป้องกันมาที่ริมถนนเจริญประเทศ แลกกับการเสียพื้นที่ริมแม่น้ำบางช่วง เพื่อป้องกันไม่ให้พื้นที่เศรษฐกิจด้านในอย่างไนท์บาร์ซาร์ และถนนช้างคลาน ได้รับผลกระทบ

กรมชลประทาน ระบุ สุโขทัย-นครสวรรค์-อยุธยา-อ่างทอง ยังอ่วม จับตาพิษณุโลกแนวโน้มระดับน้ำสูงขึ้น


       ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานสถานการณ์น้ำท่วม ภาคเหนือ จ.สุโขทัย บริเวณแม่นํ้ายมตลิ่งฝั่งซ้าย ปริมาณนํ้าเอ่อล้นจากลํานํ้า และไหลข้ามถนนทางหลวง หมายเลข 101 (อ.เมือง-อ.ศรีสําโรง) หมู่ที่ 1, 4 ต.ปากแคว อ.เมือง ระดับนํ้าท่วมสูงประมาณ 0.20-0.30 ม. เป็นระยะทาง 300 ม. รถเล็กสัญจรไปมาไม่สะดวก ด้าน จ.พิษณุโลก ระดับนํ้าลุ่มนํ้ายมสายเก่า บริเวณเขต อ.พรหมพิราม และในเขต อ.บางระกํา ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากนํ้าไหลหลากจาก จ.แพร่ และ จ.สุโขทัย รอบใหม่ ส่งผลให้พื้นที่น้ำท่วมเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันมีพื้นที่น้ำท่วม รวม 3 อําเภอ ได้แก่ อ.พรหมพิราม อ.บางระกํา และ อ.เมือง พื้นที่การเกษตร รวม 42,300 ไร่ ส่วน จ.นครสวรรค์ ยังคงมีน้ำท่วมจากน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.ลาดยาว อ.โกรกพระ อ.เมือง

      ภาคกลาง จ.พระนครศรีอยุธยา ยังคงมีนํ้าล้นตลิ่งจากแม่นํ้าเจ้าพระยา แม่นํ้าน้อย คลองโผงเผง ไหลเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำติดริมตลิ่ง จํานวน 6 อําเภอ คือ อ.พระนครศรีอยุธยา อ.บางบาล อ.ผักไห่ อ.เสนา อ.บางไทร และ อ.บางปะอิน ส่วน จ.อ่างทอง เกิดน้ำล้นตลิ่งคลองโผงเผง เข้าท่วมพื้นที่ ต.โผงเผง และพื้นที่ ต.บางปลากด อ.ป่าโมก และเกิดน้ำท่วมพื้นที่นอกแนวเขตคันกั้นน้ำเจ้าพระยา บริเวณ ต.จำปาหล่อ อ.เมือง 

น้ำป่าหลากท่วมสระแก้วระลอก 2 ขยายวงกว้าง


   จากกรณีพื้นที่ จ.สระแก้ว เริ่มมีฝนตกและน้ำท่วมฉับพลัน เป็นครั้งที่ 2 ของพื้นที่ หลังจากที่น้ำลดไปแล้วในสัปดาห์ที่ผ่านมา ล่าสุด ได้รับรายงานจาก ปภ. จังหวัด ว่า อ.วัฒนานคร มีพื้นที่ถึง 11 ตำบล อ.วังน้ำเย็น มี ต.คลองหินปูน อ.รัญประเทศ มี ต.หันทราย หมู่ที่ 2 หมู่ที่ 9 หมู่ที่ 5 หมู่ที่ 10 และ ต.บ้านด่าน อ.เมืองสระแก้ว ขณะนี้ก็กำลังเตรียมรอรับน้ำจากสายเหนือ โดยเฉพาะ ต.สระขวัญ

      ล่าสุด คลองพญานาค เข้าท่วมในเขตพื้นที่ 4 หมู่บ้าน ของบ้านพร้าวหมู่ที่ 1 บ้านจิก หมู่ 7 บ้านเมือง หมู่ที่ 5 บ้านสระลพ หมู่ที่ 4 ของ ต.วัฒนานคร อ.วัฒนานคร โดยเฉพาะ ถนนสายวัฒนานคร-คลองหาด ช่วงบริเวณโรงเรียนบ้านพร้าว ต.วัฒนานคร รถเล็กไม่สามารถวิ่งผ่านได้ เช่นเดียวกับที่เส้นทับไทย - หนองขาว ที่รถยนต์ไม่สามารถวิ่งผ่านได้เช่นเดียวกัน ขณะนี้ ปริมาณน้ำสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง  เนื่องจากยังมีน้ำไหลทะลักเข้ามาอยู่ และยังมีการกำหนดพื้นที่เพิ่มเติมอยู่

น้ำล้นตลิ่งทะลักเข้าท่วมตลาดโรงเกลือ สระแก้ว



    หลังจากเกิดฝนตกหนักติดต่อกันตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน ในท้องที่จังหวัดสระแก้ว ทำให้เกิดน้ำไหลหลากเกิดน้ำท่วมฉับพลันที่อำเภอวังสมบูรณ์ อำเภอวังน้ำเย็น อำเภอวัฒนานคร และไหลลงสู่อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 0.30 น. วันที่ 18 กันยายนน้ำจากอำเภอวัฒนานคร ทะลักเข้าคลองห้วยพรหมโหด น้ำล้นตลิ่งทะลักเข้าท่วมเทศบาลตำบลบ้านด่าน เทศบาลตำบลบ้านใหม่หนองไทร และเทศบาลเมืองอรัญประเทศ น้ำเอ่อสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้บริเวณหน้าเทศบาลเมืองอรัญประเทศ บริเวณสี่แยกไฟแดง ถนนราษฎร์อุทิศ ระดับน้ำสูงกว่า 1.50 เมตร รถกระบะ รถเก็ง รถเล็กไม่สามารถผ่านได้

      บรรยากาศที่ตลาดโรงเกลือ น้ำล้นตลิ่งจากห้วยพรหมโหด ทะลักเข้าท่วม ตั้งแต่เย็นวันที่ 17 กันยายน ทำให้ชาวกัมพูชา ที่เข้ามาเช่าอาคารประกอบการค้า เก็บสินค้าเอาไว้ที่สูง และวันที่ 18 กันยายนตลาดโรงเรียนปิดทำการค้าเป็นส่วนใหญ่ ส่วนบริเวณตลาด ที่น้ำท่วมไม่ถึง ชาวกัมพูชายังเข้ามาทำการค้าเป็นปกติ ส่วนที่ตลาดเทศบาลวัฒนานคร น้ำเริ่มลดลง แล้ว

น้ำท่วมชัยภูมิตัดขาด 5 หมู่บ้าน จมกว่าสัปดาห์

    สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.ชัยภูมิ วันที่ 17 กันยายน 2555 ปริมาณน้ำชียังทะลักเข้าล้นบึงละหานในเขต ต.ละหาน อ.จัตุรส ราษฎรยังได้รับผลกระทบถูกน้ำหลากเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรเสียหายหนักต่อเนื่องสูงกว่า 1 เมตรต่อเนื่อง ซึ่งยังไม่มีหน่วยงานใดลงไปช่วยเหลือราษฎรแต่อย่างใด

        หลังชาวบ้านซึ่งถูกน้ำท่วมใน 5 หมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบถูกน้ำท่วมครั้งนี้ถูกตัดขาดจากโลกภายนอกมานานกว่า 1 สัปดาห์แล้ว ประกอบด้วย ชาวบ้านหมู่ 2 ได้รับความเดือดร้อนถูกน้ำท่วมบ้านสูงกว่าเมตร 140 หลังคาเรือน,หมู่ 10 จำนวน 50 หลังคาเรือน,หมู่ 13 60 หลังคาเรือน,หมู่ 16 จำนวน 132 หลังคาเรือน และหมู่ 17 จำนวน 130 หลังคาเรือน รวมกว่า 512 หลังคาเรือน ชาวบ้านยังคงถูกตัดขาดติดอยู่ในบ้านเรือนจากปริมาณน้ำท่วมสูงขึ้นต่อเนื่อง ประชากรเดือดร้อนมากกว่า 2,000 คน

วันจันทร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2555

ฝนถล่ม "สุพรรณบุรี" น้ำท่าจีนเอ่อล้นท่วมบ้านเรือนประชาชน 3 อำเภอ



 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที จ.สุพรรณบุรี ได้เกิดฝนตกลงมาอย่างหนัก ทำให้น้ำในแม่น้ำท่าจีน ที่ก่อนหน้านี้น้ำลดลงได้เพิ่มปริมาณขึ้นอีก ทำให้ล้นเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนที่อยู่ติดริมแม่น้ำใน 3 อำเภอ คือ อ.เมือง บางปลาม้า และ อ.สองพี่น้อง

นายสรชัด สุจิตต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า จ.สุพรรณบุรี เป็นพื้นที่ลุ่ม เป็นพื้นที่รองรับน้ำ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่อยู่ริมน้ำท่าจีน ที่ได้รับผลกระทบหลักๆ ก็คือ อำเภอเมือง อำเภอบางปลาม้า และอำเภอสองพี่น้อง ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มค่อนข้างต่ำ เมื่อฝนตกจึงระบายไม่ทัน เนื่องจากกว่าน้ำจะระบายลงทะเลใช้ระยะทางประมาณกว่า 200 กิโลเมตร ขณะนี้พื้นที่น้ำท่วมเริ่มแพร่ขยายกว้างขึ้น และน้ำที่เข้าสุพรรณบุรีมีอยู่ 3 ทางด้วยกันคือ ทางภาคตะตัวตก ทางเทือกเขาเมืองกาญจนบุรีไหลผ่านเข้าจังหวัดสุพรรณบุรี ส่วนที่สองน้ำจากทางภาคเหนือ จากเจ้าพระยาผันเข้าสู่ประตูน้ำพลเทพก็คือปริมาณน้ำฝนที่ตกในจังหวัดชัยนาท อุทัยธานี จะใหลลงเข้าสู่จังหวัดสุพรรณบุรี ส่วนด้านฝั่งตะวันออก จะได้รับผลกระทบจากแม่น้ำน้อย ดังนั้น จ.สุพรรณบุรี จะรับน้ำหลักๆ มาจาก 3 ทางดังกล่าว

ในส่วนของจังหวัดสุพรรณบุรี ในรับการผันน้ำบางส่วนจากแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านประตูพลเทพเข้ามาในพื้นที่ด้วย ตนได้ประสานผู้นำชุมชนและกำนันผู้ใหญ่บ้านที่อยู่ริมแม่น้ำท่าจีนทั้งหมด ให้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ ส่วนพื้นที่ถนนหรือแนวถนนตรงไหนที่สามารถเป็นคันกั้นน้ำไม่ให้ท่วมเข้าเขตเศรษฐกิจสำคัญหรือเขตชุมขนได้ คงต้องมีการวางแผนกันและหน่วยงานราชการที่สำคัญ โดยเฉพาะโรงพยาบาลเจ้าพระยา ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญเป็นพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมค่อนข้างจะสูง

นอกจากนี้ ในเรื่องของทางภาคเกษตรได้ประสานงานเกษตรตำบลทุกๆ ตำบล ในการวางแผนว่าพื้นที่ใดมีการเก็บเกี่ยวและเป็นพื้นที่เสี่ยงอันดับต้นๆ ก็จะเร่งในการเก็บเกี่ยว เพราะขณะนี้พื้นที่บางส่วนยังไม่ได้เก็บเกี่ยว จึงอาจมีผลกระทบต่อชาวนาบางส่วน

ถนนเลียบคลองสิบสาม ปทุมธานี ทรุดตัวเป็นทางยาว


      ชาวบ้านถนนเลียบคลองสิบสาม จ.ปทุมธานี โวย! ถนนเลียบคลองถึง อ.หนองแค จ.สระบุรี ทรุดตัวเป็นทางยาว พบเพิ่งเปิดใช้เมื่อต้นปี

          วันนี้ (17 กันยายน) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้าน ต.นพรัตน์ อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี ร้องเรียนผ่านสื่อมวลชน ว่า ถนนเลียบคลองสิบสาม ตั้งแต่ประตูระบายน้ำพระธรรมราชา ไปจนถึงคลองระพีพัฒน์ สายตัดขวางไปประตูระบายน้ำพระอินทร์ราชา สาย ปท.3026 อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี - อ.หนองแค จ.สระบุรี โดยทางหลวงชนบทเป็นผู้รับผิดชอบ ถนนสายนี้ผ่าน ต.สนั่นรักษ์ ต.หนองสามวัง ต.ศาลาครุ และ ต.นพรัตน์ ไปสุดที่ อ.หนองแค ที่เคยทรุดตัวลงถนนไหลลงคลอง และได้มีการซ่อมแซมมาตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา

          และเมื่อช่วงเดือนเมษายน ถนนสายนี้ทรุดตัวลงอีกเป็นจุด ๆ มีความยาวตั้งแต่ 20 เมตร ไปจนถึง 100 เมตร ถนนแตกร้าวเป็นช่อง หรือเป็นร่องใหญ่ บางจุดทรุดตัวเต็มถนนเหลือเพียงไหล่ทางที่รถจะวิ่งได้ และบางจุดเป็นหลุมใหญ่ ลึก มีน้ำท่วมขัง แต่ไม่มีหน่วยงานเข้ามารับผิดชอบรวมทั้งผู้รับเหมาที่ทำถนน มีเพียง อบต.พื้นที่ นำแท่งปูนมาตั้งพ่นลูกศรให้ผู้ขับรถเห็นเท่านั้น แต่ในเวลากลางคืนถนนไม่มีแสงไฟ ทำให้ผู้ขับรถชนแท่งปูน หรือขับตกร่องรอยร้าว ทำให้รถเสียหลักตกคลองหลายรายแล้ว จึงฝากหน่วยงานที่รับผิดชอบ ช่วยดำเนินการด้วย

น้ำเหนือจ่อท่วมพิษณุโลก เตือน ปชช. ขนของขึ้นที่สูง

     อ่วม! ฝนตกหนักทำน้ำเหนือทะลักจ่อท่วม 3 อำเภอใน จ.พิษณุโลก สูงกว่า 1 เมตร เตือนประชาชนริมแม่น้ำยมขนของขึ้นที่สูง ด้าน สุขุมพันธุ์ เชื่อปีนี้น้ำเหนือไม่แรง กทม. ไม่น่าห่วง

          เมื่อวันที่ 16 กันยายน ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานว่า ขณะนี้ระดับน้ำลุ่มน้ำยมสายเก่า จ.พิษณุโลก มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากน้ำไหลหลากจาก จ.แพร่ และจ.สุโขทัย รอบใหม่ ส่งผลให้น้ำท่วมขยายวงกว้างมากขึ้นใน 3 อำเภอ คือ พรหมพิราม บางระกำ และ อ.เมือง พื้นที่เกษตรเสียหายรวม 42,300 ไร่ จากเดิม 23,300 ไร่

          ทางด้าน นายบรรดิษฐ์ อินต๊ะ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า หลังฝนตกในพื้นที่ภาคเหนือช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา โดยเฉพาะที่ จ.แพร่ และ จ.อุตรดิตถ์ ส่งผลให้มวลน้ำที่ไหลเข้าสู่ อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย จำนวน 1,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ถือว่ามากกว่ามวลน้ำที่ผ่านมา ซึ่งมีเพียง 1,055 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำยมที่สุโขทัยจะเพิ่มระดับอีกครั้ง

          หลังจากนั้นมวลน้ำลูกนี้ไหลเข้ามาทางแม่น้ำยมสายเก่าและคลองหกบาท ระดับน้ำที่จะปล่อยน้ำเส้นทางน้ำดังกล่าวประมาณ 340 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะทำให้ ต.วังวน ต.หนองแขม ต.พรหมพิราม ต.ท่าช้าง อ.พรหมพิราม ต.บ้านกร่าง อ.เมือง และ ต.ชุมแสงสงคราม ต.ท่านางงาม อ.บางระกำ มีระดับน้ำมากขึ้น มวลน้ำจะค่อย ๆ ดันระดับน้ำเดิมขึ้นสูง ในพื้นที่ทั้ง 3 อำเภอ ซึ่งน้ำท่วมอยู่แล้ว จะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องอีก 50-70 เซนติเมตร ขณะที่บางพื้นที่ที่เป็นลุ่มต่ำอาจท่วมสูงกว่า 1 เมตร

ดินสไลด์ทับเส้นทาง ปิดถนนเมืองลับแล


     อบจ.อุตรดิตถ์ เร่งนำเครื่องจักรเปิดถนนสายผามูบ - บ่อแก้ว หลังดินสไลด์ทับเส้นทาง หวั่นเกษตรกรผลไม้เดือดร้อน

          นายชลิต ธนวัฒน์ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุตรดิตถ์ พร้อมด้วยนายเฉลิมชัย เฟื่องคอน รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ ลงพื้นที่บ้านโจ้โก้เก๊าแก ถนนสายผามูบ - บ่อแก้ว ต.แม่พูล อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ เพื่อตรวจถนนซึ่งถูกดินจากภูเขาสไลด์ปิดทับเส้นทางเข้าพื้นที่ทางการเกษตรของชาวลับแล

          ด้านองค์การบริหารส่วนจังหวัด ได้ส่งรถแมคโคร จำนวน 1 คัน และรถฟาร์มแทรกเตอร์ จำนวน 1 คัน เข้าพื้นที่ลับแลเพื่อปรับสภาพถนนซึ่งถูกดินสไลด์ปิดทับเส้นทางเข้าพื้นที่ทางการเกษตรออกจาก ถนนสายผามูบ - บ่อแก้ว บ้านโจ้โก้เก๊าแก ต.แม่พูล อ.ลับแล อันเนื่องมาจาก ฝนที่ตกติดต่อกันเป็นระยะเวลาหลายวัน ส่งผลให้ดินเชิงเขาไม่สามารถอุ้มน้ำได้ จึงสไลด์ปิดทับเส้นทางเข้าพื้นที่ทางการเกษตร เพราะช่วงนี้เป็นช่วงฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิต เช่น ลางสาด และลองกอง ซึ่งมีการปลูกกันมากบริเวณภูเขาในเขตพื้นที่ อ.ลับแล นอกจากนี้ ยังนำเครื่องจักรกลเข้าปรับเปลี่ยนเส้นทางน้ำบริเวณสะพานห้วยต้นซ้อ อีกด้วย

ชาวปทุมธานีหวั่นท่วมซ้ำ เร่งเก็บผักตบขวางท่อระบายน้ำ

  ชาวปทุมธานีวิตกน้ำท่วมซ้ำรอย ชี้กระทบบ้านเรือนประชาชนและหมู่บ้านจัดสรรกว่า 30 โครงการ เร่งร่วมมือเก็บผักตบชวาขวางท่อระบายน้ำในพื้นที่ อบต.คลองสาม

     เมื่อวันที่ 16 กันยายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอดิชาติ วงษ์แจ้ง ปลัด อบต.คลองสาม อ.คลองหลวง อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี พร้อมด้วยสมาพันธ์นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ได้ร่วมมือกันจัดเก็บผักตบชวาจำนวนมากเพื่อเปิดทางเดินของน้ำภายในคลองสามที่เชื่อมต่อกับคลองรังสิตประยูรศักดิ์ ต.ประชาธิปัตย์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี เพื่อป้องกันน้ำท่วม เนื่องจากได้มีการแจ้งเตือนมาในช่วงนี้จะมีฝนตกหนักติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน อาจทำให้น้ำในคลองสามระบายออกไม่ทัน เพราะมีผักตบชวาเป็นจำนวนมากซึ่งเป็นอุปสรรคและขวางทางเดินของน้ำ อาจส่งผลให้เกิดน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน รวมทั้งหมู่บ้านจัดสรรเกือบ 30 โครงการ

      โดย นายอดิศักดิ์ วงศ์แจ้ง กล่าวว่า ตนและสมาพันธ์นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ในพื้นที่ อบต.คลองสาม ซึ่งมีมากกว่า 27 โครงการ ประชากรตามทะเบียนราษฎร 75,000 คน และชาวบ้านได้ร่วมกันจัดเก็บผักตบชวาจำนวนมากภายในพื้นที่ อบต.คลองสามตั้งแต่หมู่ที่ 1 - 16 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ตรงบริเวณประตูระบายน้ำคลองสาม ต.ประชาธิปัตย์ อ.ธัญบุรี ซึ่งเป็นเขตรอยต่อระหว่าง อบต.คลองสาม กับเทศบาลนครรังสิตนั้น ปรากฏว่ามีผักตบชวาขึ้นเป็นจำนวนมากอย่างหนาแน่น ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลหรือดำเนินการกำจัดผักตบชวาเหล่านี้เลย ชาวบ้านต่างหวาดกลัวว่าจะทำให้เกิดปัญหาเอ่อล้นเข้าบ้านเรือนของตนเอง และได้ทำหนังสือร้องเรียนมาที่ อบต.ให้เร่งดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอย่างเร่งด่วน

ผู้ว่าฯ สุโขทัย ยันคุมน้ำท่วมรอบ 2 ได้ เร่งซ่อมรอยรั่ว


 ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย ระบุ คุมสถานการณ์น้ำท่วมรอบสองได้แล้ว ขณะน้ำยมสูงถึง 7.21 เมตร ด้านอธิบดีกรมชลประทาน ยัน น้ำเหนือไร้ปัญหาคุมได้ โยนกบอ.ดูระบายน้ำผ่านกทม.

      วันนี้ (17 กันยายน) นายจักริน เปลี่ยนวงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำจากแม่น้ำยม ทะลักท่วมเขตเทศบาลเมืองสุโขทัยธานี อีกครั้ง ว่า ขณะนี้สามารถควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว พร้อมกับเร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่ท่วมขัง เร่งซ่อมแซมรอยรั่วของกำแพงกั้นน้ำ หลังระดับแม่น้ำยมอยู่ที่ 7.21 เมตร นอกจากนี้ ทาง อ.เมืองสุโขทัย เปิดรับแจ้งความเสียหาย ก่อนที่จะส่งเจ้าหน้าที่ลงสำรวจความเสียหายจริงอีกครั้ง

     อย่างไรก็ตาม สำหรับอำเภอรอบนอก อย่าง อ.ศรีสัชนาลัย อ.สวรรคโลก และ อ.ศรีสำโรง ก็เร่งให้การช่วยเหลือ จัดหน่วยแพทย์เข้าตรวจสุขภาพ และจัดตั้งโรงครัวให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วมแล้ว

ไม่มั่นใจรัฐบาลเอาอยู่! ชาวนนท์ แห่ขนของหนีน้ำท่วมแล้ว


     ชาวบ้านย่านรัตนาธิเบศร์ และบางบัวทอง ต่างพากันวิตกกลัวเหตุการณ์น้ำท่วมซ้ำรอยเหมือนปี 2554 จึงแห่กันยกของขึ้นที่สูงเตรียมรับมือน้ำท่วมแล้ว ขณะที่ชาวบ้านหมู่บ้านชัยพฤกษ์ บางบัวทอง ก็เพิ่มทำชิพพลายกั้นน้ำสูงกว่า 3 เมตร เพื่อป้องกันน้ำจากคลองพระพิมล ที่ท่วมสูงจนมิดหัวเมื่อปีที่แล้ว

       วันนี้ (17 กันยายน) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านหมู่บ้านรัตนาธิเบศร์ ซึ่งปีที่แล้วประสบอุทกภัยน้ำท่วมสูงถึงระดับหน้าอก ได้มีการเตรียมพร้อมรับมือกับน้ำท่วมในปีนี้ โดยได้ยกของขึ้นบนชั้นสองไว้เรียบร้อยแล้ว ถึงแม้ว่าทางรัฐบาลจะออกมายืนยันน้ำจะไม่ท่วม แต่ชาวบ้านก็ไม่มีใครมั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์ ว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเหมือนปีที่ผ่านมา

       ขณะที่ ชาวบ้านหมู่บ้านชัยพฤกษ์ บางบัวทอง ได้มีการเตรียมพร้อมทั้งหมู่บ้าน โดยมีการเรียกประชุมสมาชิกเพื่อเตรียมรับน้ำ ซึ่งในปีที่แล้วหมู่บ้านแห่งนี้ถูกน้ำท่วมสูงจนมิดหัว เนื่องจากน้ำจากคลองพระพิมลที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยาล้อมด้านข้างและด้านหน้าหมู่บ้าน ทั้งนี้ ชาวบ้านได้นำกำแพง 2 ชั้น โดยชั้นแรกเป็นคันดินสูง 3 เมตร และฝังชิพพลายลงดิน 1.5 เมตร และเหนือดิน 1.5 เมตร ขนานกับกำแพงของหมู่บ้านยาว 1,500 เมตร ซึ่งทั้งหมดใช้งบประมาณกว่า 10 ล้านบาท โดยเป็นเงินส่วนกลางของหมู่บ้านที่มีอยู่แล้ว

      อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านทั้งสองหมู่บ้านก็ได้ทยอยเก็บสิ่งของไว้บนชั้นสองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งประชุมหมู่บ้านให้เตรียมตัวรับมือกับมวลน้ำที่กำลังจะมา อีกทั้งยังย้ำให้เปิดมุ้งลวดเพื่อให้น้ำไหลผ่าน เพื่อไม่ให้เวลาน้ำลดแล้วบ้านไม่เป็นเชื้อรา

วันอาทิตย์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2555

สรุปข่าวน้ำท่วม ประจำวัน

ภาคเหนือ

      1.จังหวัดเชียงราย เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องพื้นที่ต้นน้ำแม่จันและต้นน้ำแม่คำ ตั้งแต่วันที่ 13 – 14 ก.ย.55 ทำเกิดน้ำล้นตลิ่งจากลำน้ำแม่จันและลำน้ำแม่คำ ไหลเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือนราษฏร รวม 1 อำเภอ จำนวน 2 ตำบล คือ ตำบลป่าตึง ตำบลแม่คำ ระดับน้ำท่วมสูง 0.30 – 0.50 ม. ปัจจุบันสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ตั้งแต่วันที่ 14 ก.ย.55
       2.จังหวัดลำปาง เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากในวันที่ 14 ก.ย.55 ส่งผล กระทบน้ำท่วมในพื้นที่ รวม 2 อำเภอ คือ อำเภอเมืองลำปาง และ อำเภอแม่เมาะ (ตำบลสบป้าด ตำบลนาสัก) ระดับน้ำสูง 1.00 ม. ปัจจุบันสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ตั้งแต่วันที่ 14 ก.ย.55
       3.จังหวัดแพร่ เมื่อวันที่ 15 ก.ย.55 เกิดฝนตกหนักในเขต ต.แม่พูน ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากในลำห้วยแม่แปง ลำห้วยแม่สิน ลำห้วยแม่พูน และ ลำห้วยแม่สูง ไหลท่วมบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตร หมู่ที่ 1-6, 10, 11 หากไม่มีฝนตกมาเพิ่มคาดว่าจะเข้าสู่ปกติ 1-2 วัน
        4.จังหวัดแม่ฮ่องสอน เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องเมื่อวันที่ 14 ก.ย.55 ช่วงเวลา 01.00-04.00 น. ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมเขตพื้นที่อำเภอเมือง บริเวณบ้านในสอย หมู่ที่ 4และบ้านสบสอย หมู่ที่ 7 ปัจจุบันสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ตั้งแต่วันที่ 14 ก.ย.55
      5.จังหวัดสุโขทัย ปัจจุบันสถานการณ์ได้เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ตั้งแต่วันที่ 14 ก.ย.55
      6.จังหวัดพิษณุโลก ระดับน้ำลุ่มน้ำยมในเขตจังหวัดพิษณุโลก ยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทำให้พื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมขยายวงกว้าง  ปัจจุบันมีพื้นที่น้ำท่วม 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอพรหมพิราม อำเภอบางระกำ และอำเภอเมือง พื้นที่เกษตร รวม 23,300 ไร่
       7.จังหวัดพิจิตร ปัจจุบันสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ตั้งแต่วันที่ 14 ก.ย. 55
       8.จังหวัดนครสวรรค์ ยังคงมีน้ำท่วมจากน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอลาดยาว อำเภอแม่วงก์ อำเภอโกรกพระ และอำเภอเมือง สถานการณ์แม่น้ำปิง แม่น้ำแม่วงก์มีแนวโน้มลดลง ส่วนแม่น้ำน่าน แม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย หากไม่มีฝนตกลงมาในพื้นที่เพิ่มขึ้นคาดว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 3-4 วัน

ภาคกลาง

       9.จังหวัดชัยนาท ยังคงมีน้ำท่วมจากน้ำไหลล้นตลิ่งพื้นที่ลุ่มต่ำนอกเขตพื้นที่ชลประทานใน ตำบลวังหมัน อำเภอวัดสิงห์ระดับน้ำเฉลี่ย 0.70 ม. สถานการณ์มีแนวโน้มลดลง คาดว่าหากไม่มีฝนตกลงมาในพื้นที่เพิ่มขึ้นสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 2-3 วัน
     10.จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ยังคงมีน้ำล้นตลิ่งจากแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย คลองโผงเผง ไหลเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำติดริมตลิ่ง จำนวน 6 อำเภอ คือ อำเภอพระนครศรีอยุธยา อำเภอบางบาล อำเภอผักไห่ อำเภอเสนา อำเภอบางไทร และอำเภอบางปะอิน
      11.จังหวัดอ่างทอง วันที่ 10 กันยายน 2555 ได้เกิดเหตุอุทกภัย จากมวลน้ำและระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อย ประกอบกับมีฝนตกในพื้นที่ทางภาคเหนือและภาคกลางตอนบนและในพื้นที่ ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้น้ำกัดเซาะตลิ่งและน้ำเอ่อล้นตลิ่ง เข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่การเกษตรของพระชาชนในพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำน้อยและแม่น้ำเจ้าพระยา 5 อำเภอ 12 ตำบล ได้แก่ อำเภอป่าโมก ตำบลโผงเผง และตำบลบางเสด็จ อำเภอเมืองอ่างทอง ตำบลจำปาหล่อ บ้านแห และตำบลย่านซื่อ อำเภอวิเศษชัยชาญ ตำบลบางจัก อำเภอไชโย ตำบลจระเข้ร้อง ชัยฤทธิ์ หลักฟ้า ไชยภูมิ และตำบลไชโย อำเภอโพธิ์ทอง ตำบลบ่อแร่

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

      12 จังหวัดชัยภูมิ วันที่ 7-8 กันยายน 2555 ได้เกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่ 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอคอนสวรรค์ อำเภอเกษตรสมบูรณ์ อำเภอหนองบัวระเหว อำเภอจัตุรัส อำเภอหนองบัวแดง อำเภอบ้านเข อำเภอแก่งค้อ อำเภอภูเขียว ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในเขตตัวเมืองเทศบาลชัยภูมิได้เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว

ชาวสุโขทัยผวา !!! ซ้ำหลังมีน้ำซึมแนวบิ๊กแบ็ก

 ชาวเทศบาลเมืองสุโขทัยธานี ต้องผวาอีกรอบ เมื่อมีน้ำซึมออกมาจากแนวบิ๊กแบ็ก

          วานนี้ (15 กันยายน) เจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองสุโขทัยธานี ป้องกันจังหวัด ชลประทานจังหวัด ต้องระดมกำลังเจ้าหน้าที่กลางดึก หลังจากพบรอยรั่วที่บริเวณบิ๊กแบ็ก จุดล้อมกั้นโพรงน้ำที่ลอดพนังกั้นแม่น้ำยม และเป็นสาเหตุทำให้น้ำทะลักเข้าเขตเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา อีกทั้งเครื่องสูบน้ำที่ประจำจุดนี้ ซึ่งใช้ไฟฟ้าต้องหยุดการทำงาน เนื่องจากน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเจ้าหน้าที่เกรงว่าจะเกิดไฟฟ้าลัดวงจรได้ ต้องตัดสินใจเปลี่ยนมาใช้เครื่องสูบน้ำจากชลประทาน ขนาด 12 นิ้ว จำนวน 2 เครื่องแทน

           ทั้งนี้ นายนพพร  ภู่อรุณ รองนายกเทศบาลเมืองสุโขทัยธานี ยังไม่มั่นใจว่าสถานการณ์ในช่วงเช้าจะเป็นอย่างไร เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำยมสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องชั่วโมงละ 10 เซนติเมตร  ล่าสุด เมื่อเวลา 02.00 น. ปริมาณน้ำจาก อ.ศรีสัชนาลัย ที่ไหลลงมารวมกันเริ่มทำให้ อ.ศรีสำโรง ตอนบนของ อ.เมือง สูง 9.70 เมตร เหลือเพียง 30 เซนติเมตร ก็จะถึงจุดวิกฤติที่ 10 เมตร ความเร็วของน้ำ อยู่ที่ 950 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ซึ่งหากช่วงกลางระหว่าง อ.เมือง กับ อ.ศรีสำโรง มีบริเวณจุดเปราะ ตลิ่งเกิดการกัดเซาะ จากน้ำล้นตลิ่ง มวลน้ำก็จะเปลี่ยนทิศ หลากเข้าพื้นที่ทุ่งการเกษตรฝั่งตะวันตก ที่ยังมีพื้นที่รับน้ำอีกมาก และจะทำให้พื้นที่ อ.เมืองสุโขทัย ปลอดภัย - INN

เขื่อนเจ้าพระยาเร่งระบายน้ำ ชาวกรุงเก่าขนของหนี

เขื่อนเจ้าพระยาเร่งระบายน้ำ ชาวกรุงเก่าเร่งขนย้ายของขึ้นที่สูง หลังปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่จังหวัดพร้อมประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ แจ้งเตือน ปชช.ทุกวัน
      วันที่ 16 กันยายน 2555 ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา มีระดับน้ำสูงขึ้นประมาณ 20-50 ซม. เพื่อเตรียมความพร้อมป้องกันน้ำหลากเข้าท่วมพื้นที่ ชาวบ้านจึงขนย้ายสิ่งของที่จะเสียหายขึ้นที่สูง และป้องกันพื้นที่เป็นการล่วงหน้า


ภาพน้ำท่วม 2555 
ภาพเขื่อนเจ้าพระยา 


       นายอุดมศักดิ์ ขาวหนูนา หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เปิดเผยว่าระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น 5-10 ซม. ส่วนแม่น้ำน้อย ป่าสัก และลพบุรี น้ำเริ่มทรงตัว

        นายนัทธี บ่อสุวรรณ ปลัดจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ได้ประชุมในศูนย์ส่วนหน้าสถานการณ์น้ำที่เอ่อล้นตลิ่งให้ประชาสัมพันธ์ สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนผ่านป้ายไฟฟ้าบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดฯ ทุกวัน และแจ้งเตือนผ่าน SMS ของนายอำเภอ ผู้บริหารระดับท้องถิ่นที่อยู่ติดแม่น้ำ โดยให้เรียงเป็นรายแม่น้ำ และให้องค์การปกครองท้องถิ่นทุกแห่งติดป้ายเตือนริมถนนที่ประสบอุทกภัย พร้อมจัดเวรยามในการดูแลทรัพย์สินและยานพาหนะที่ขนย้ายมาจอดไว้ในศูนย์พัก พิงชั่วคราว โดยให้ตำรวจในพื้นที่จะเข้าไปดูแลความเรียบร้อยและความปลอดภัยอย่างต่อ เนื่อง 24 ชม

  






อุตุฯ เตือน ฉ.13 ฝนตกหนัก 15-18 ก.ย.2555

กรมอุตุฯ ประกาศเตือน ฉบับที่ 13 ฝนตกหนักทั่วประเทศ 15-18 ก.ย.  ชาวเรือระมัดระวังคลื่น 2 เมตร

          กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเตือน "ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทย"  ฉบับที่ 13 ว่า  บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีน แผ่ลิ่มลงมาปกคลุมตอนบนของประเทศไทย ส่งผลทำให้ร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคกลาง และภาคตะวันออก เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำในทะเลจีนใต้ตอนกลาง ประกอบกับ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกชุกหนาแน่น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง

          ในภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักในช่วงวันที่ 15-18 กันยายน 2555 ส่วนคลื่นลมในทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังค่อนข้างแรง โดยมีคลื่นสูงประมาณ2 เมตร ขอให้ชาวเรือเพิ่มความระมัดระวังในช่วงวันเวลาดังกล่าวไว้ด้วย

          อนึ่ง พายุไต้ฝุ่น ซันปา (SANBA) บริเวณด้านตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลาง ประมาณ 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะเคลื่อนตัวผ่านเกาะโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น และเคลื่อนตัวเข้าสู่คาบสมุทรเกาหลี ในช่วงวันที่ 15-17 กันยายน 2555 พายุนี้ ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย